Illness name: ตาปลา

Description:

ตาปลา

ความหมาย ตาปลา

Share:

ตาปลา (Corns) คือ ผิวหนังที่แข็งตัวเป็นตุ่มหนา โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นบริเวณด้านบนและด้านข้างของนิ้วเท้าหรือบนฝ่าเท้า แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่บนร่างกาย ตาปลาทำให้เกิดความรำคาญและความเจ็บปวดเวลาที่ต้องเดินหรือใส่รองเท้า นอกจากนั้นยังมีรูปลักษณ์ที่ไม่น่ามองเท่าไหร่นัก

อาการของตาปลา

สิ่งที่บ่งบอกได้ว่าเป็นตาปลา มีดังนี้

  • มีตุ่มหนา แข็ง หรือหยาบที่ผิวหนัง
  • กดแล้วเจ็บ
  • ตุ่มที่เป็นตาปลาจะแห้งเป็นขุยหรือมีผิวคล้ายกับขี้ผึ้ง
  • ลักษณะของตุ่มที่เกิดขึ้นอาจมีวงสีเหลืองอยู่รอบ ๆ ตรงกลางที่มึความแข็งและเป็นสีเทา
  • ตาปลาที่ยังนิ่มจะมีลักษณะคล้ายกับแผล
  • โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าอยู่เฉย ๆ แล้วตาปลาจะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่จะเกิดความเจ็บปวดขึ้นเมื่อกด เช่น เวลาที่ต้องเดินหรือเวลาที่สวมใส่รองเท้า และจะเจ็บเมื่อกดลงไป นอกจากนั้นอาจจะทำให้ใส่รองเท้าให้พอดีได้ลำบาก
  • ตาปลามักเกิดขึ้นบริเวณด้านบนเท้าและด้านข้างนิ้วเท้า หรืออยู่ระหว่างนิ้วเท้า

หากอาการของตาปลาเริ่มเพิ่มความรุนแรงจนมีความเจ็บปวดมากหรือเกิดการอักเสบ ควรไปพบแพทย์ และหากเป็นเบาหวานหรือมีการไหลเวียนโลหิตที่ไม่ดี ควรติดต่อกับแพทย์ก่อนที่จะทำการรักษาด้วยตัวเอง เพราะการมีแผลหรือบาดเจ็บที่เท้าเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้เกิดแผลอักเสบหรือแผลพุพองลุกลามได้ง่าย

สาเหตุของตาปลา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตาปลามาจากแรงกดทับหรือการเสียดสีจากการกระทำซ้ำ ๆ เช่น

  • สวมใส่รองเท้าที่ไม่พอดีหรือหลวมเกินไปทำให้เท้าเลื่อนถูไปมาจนเกิดการเสียดสี
  • สวมใส่รองเท้าประเภทที่มีการบีบรัดเท้าจนเกินไป เช่น รองเท้าส้นสูงที่บีบหน้าเท้า หรือการยืนเป็นเวลานาน ๆ
  • สวมใส่รองเท้าโดยไม่ได้ใส่ถุงเท้า ทำให้เกิดการเสียดสีที่เท้า หรือการใส่ถุงเท้าที่ไม่พอดี

สาเหตุอื่นๆ ที่มีโอกาสทำให้เกิดตาปลาได้ เช่น

  • ผิวแห้ง ไม่ใส่รองเท้า
  • ผู้ที่ต้องถือของหนักเป็นประจำ
  • การเล่นกีฬาที่เพิ่มแรงกดดันหรือการเสียดสีที่เท้า
  • ผู้สูงอายุที่มีชั้นไขมันที่ผิวหนังน้อย

ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นตาปลา ได้แก่ ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเข้าใน (Bunions) นิ้วเท้าหงิกงอ (Hammer Toe) หรือภาวะเท้าผิดรูปอื่น ๆ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือต่าง ๆ โดยที่ไม่ได้สวมถุงมือป้องกัน เช่น เครื่องมือช่างที่มีน้ำหนักมาก หรือเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน

การวินิจฉัยตาปลา

การวินิจฉัยในเบื้องต้น แพทย์จะดูตาปลาและอาจถามคำถามเกี่ยวกับอาชีพ งานอดิแรก หรือรองเท้าที่ชอบใส่เป็นประจำ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกถึงพฤติกรรมและสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลาได้

การทดสอบและขั้นตอนที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยตาปลา ได้แก่

  • การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจดูจุดที่เป็นตาปลาและพิจารณาดูว่าไม่ใช่โรคที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น หูดและซีสต์ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
  • การเอกซเรย์ (X-ray) แพทย์อาจแนะนำให้ทำการเอกซเรย์เพื่อหาความผิดปกติทางกายภาพที่ทำให้เกิดตาปลา เช่น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก กระดูกผิดรูป

การรักษาตาปลา

การรักษาตาปลาสามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่ทำให้เกิดแรงกดหรือการเสียดสี ซึ่งเป็นสาเหตุของตาปลาตามที่กล่าวไว้ข้างต้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวมใส่รองเท้าให้มีความพอดี ใช้แผ่นป้องกันการเสียดสีและการหมั่นดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น การสวมใส่ถุงมือหรือถุงเท้าเพื่อปกป้องผิวหนังไม่ให้ต้องมีการเสียดสีมากจนเกินไป

นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้รักษาตามเคาน์เตอร์ทั่วไป เช่น แผ่นปิดตาปลา แต่จะไม่สามารถรักษาที่ต้นเหตุของตาปลาและอาจส่งผลกระทบต่อผิวหนังที่ปกติรอบ ๆ ตาปลาได้

หากพยายามดูแลรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีความเจ็บปวดมากขึ้น ก็สามารถบรรเทารักษาได้ด้วยการรักษาทางการแพทย์ ดังนี้คือ

  • ตัดแต่งผิวที่เป็นส่วนเกินออก แพทย์สามารถตัดเอาผิวหนังที่หนาออกหรือตัดแต่งเอาตาปลาที่มีขนาดใหญ่ออกได้ด้วยมีดผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้ห้ามทำด้วยตัวเองเด็ดขาดเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
  • ยาที่ใช้กำจัดตาปลา แพทย์อาจให้ใช้แผ่นแปะที่มีส่วนประกอบของกรดซาลิซิลิก (Salicylic Acid) อยู่ 40 เปอร์เซนต์ ซึ่งแผ่นแปะนี้สามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ แพทย์อาจแนะนำวิธีการใช้และอาจแนะนำให้ใช้หินภูเขาไฟในการขัดผิวหนังที่ตายแล้วออกก่อนแปะแผ่นใหม่ นอกจากนั้น ยังสามารถขอใบสั่งยาจากแพทย์สำหรับการใช้กรดซาลิซิลิกในรูปแบบทาเพื่อใช้สำหรับตาปลาที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น
  • ยาลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แพทย์อาจให้ใช้ครีมที่ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อ
  • แผ่นเสริมรองเท้า สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของรูปเท้า แพทย์อาจให้มีการใช้อุปกรณ์หรือแผ่นเสริมรองเท้าที่ทำมาเป็นพิเศษให้ผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเกิดตาปลาซ้ำ
  • การผ่าตัด เป็นกรณีที่พบได้น้อย ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้มีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขหรือจัดตำแหน่งของกระดูกที่ทำให้เกิดการเสียดสี

ภาวะแทรกซ้อนของตาปลา

โดยปกติจะไม่มีผลกระทบระยะยาว แต่อาจพบการกลับมาเกิดขึ้นใหม่หรือเป็นตาปลาที่ขนาดใหญ่ขึ้น หรือบางกรณีที่มีการติดเชื้อก็จะทำให้เกิดการเจ็บปวดเป็นอย่างมากเวลาที่ต้องเดิน ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นต้องมีการรักษาเพิ่มเติม รวมไปถึงการเกิดแผลเป็นเมื่อตาปลาหายแล้ว

การป้องกันตาปลา

การป้องกันไม่ให้เกิดตาปลาสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการดูแลตัวเองอย่างการเลือกรองเท้าที่พอดี ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป รวมไปถึงการดูแลตัวเองอื่น ๆ ที่ช่วยไม่ให้เกิดผิวที่แห้งรุนแรงซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของตาปลา ได้แก่

  • ใช้ครีมบำรุงสำหรับเท้าโดยเฉพาะ หลังจากที่อาบน้ำเสร็จหรือหลังล้างเท้า
  • ใช้หินภูเขาไฟหรือที่ขัดเท้าเป็นประจำเพื่อกำจัดผิวที่แห้งแตกออก
  • อย่าปล่อยให้อาการปวดเท้ากลายเป็นเรื่องปกติ ควรไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านเท้าหรือแพทย์โดยตรง เพื่อให้คำแนะนำและหาสาเหตุของการเจ็บเท้า
  • สวมใส่รองเท้าที่สบายและขนาดที่พอเหมาะ ควรเลือกซื้อรองเท้าในช่วงเวลาบ่าย เพราะเท้ากำลังขยายตัวเต็มที่ ซึ่งรองเท้าที่เลือกซื้อแล้วใส่ได้อย่างพอดีในช่วงเวลานี้จะทำให้ใส่ได้สบายที่สุด นอกจากนั้นต้องมีเนื้อที่สำหรับให้นิ้วเท้าขยับได้ในช่วงของหน้ารองเท้ากับนิ้วเท้าที่ยาวที่สุด และหากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเพราะจะเพิ่มแรงกดบริเวณที่ด้านหน้าเท้า