Illness name: trigeminal neuralgia โรคปวดเส้นประสาทใบห

Description:

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia)

ความหมาย โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia)

Share:

Trigeminal Neuralgia หรือโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดอย่างเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการปวดแปลบหรือปวดเหมือนโดนไฟฟ้าช็อตที่หน้า ขากรรไกร ฟัน หรือเหงือก โดยส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทใบหน้า ซึ่งทำหน้าที่รับส่งความรู้สึกจากบริเวณใบหน้าไปยังสมอง แม้ในปัจจุบันยังไม่วิธีป้องกันโรคนี้ แต่ผู้ป่วยอาจหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดได้

อาการของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

ผู้ป่วยโรค Trigeminal Neuralgia อาจมีอาการปวดที่ใบหน้าเพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือมากกว่านั้น โดยอาการปวดที่อาจเกิดขึ้น มีลักษณะดังนี้

  • ปวดแปลบแบบฉับพลัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาทีหรือนานถึง 2 นาที ทั้งนี้ อาจรู้สึกปวดเหมือนโดนไฟฟ้าช็อตติดต่อกัน หรือเหมือนมีเข็มทิ่ม ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย
  • อาจปวดตุบ ๆ ปวดตื้อ ๆ หรือแสบร้อนในระหว่างที่อาการปวดรุนแรงขึ้น และอาจรู้สึกปวดเบา ๆ หรือแสบร้อนหลังจากอาการปวดที่รุนแรงหายไป  
  • ปวดที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งบนใบหน้าหรือปวดเป็นวงกว้าง โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดบริเวณแก้ม ฟัน ขากรรไกรบนและล่าง หรือบริเวณที่พบได้น้อยอย่างหน้าผากหรือตา
  • ปวดบริเวณใบหน้าเพียงด้านเดียวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอาการปวดที่ใบหน้าทั้ง 2 ด้าน มักเป็นอาการที่พบได้น้อย
  • ปวดบ่อยหรือรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรืออาจปวดอย่างรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นได้เลย
  • ปวดหลายร้อยครั้งต่อวัน   

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์หากอาการปวดเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานหรือเกิดขึ้นซ้ำ ๆ รวมถึงหากอาการปวดไม่บรรเทาลงแม้จะรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ตาม  

สาเหตุของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

โรค Trigeminal Neuralgia อาจเกิดจากสาเหตุ ดังนี้

  • แรงกดทับที่เส้นประสาทใบหน้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการของโรคนี้เนื่องจากเส้นประสาทใบหน้าที่อยู่ใกล้กับก้านสมองเกิดการกดทับ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดผู้ป่วยบางรายจึงไม่มีอาการของโรคนี้แม้เส้นประสาทใบหน้าจะถูกกดทับก็ตาม
  • โรคหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเอ็มเอสที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท เส้นเลือดขยาย การเกิดเนื้องอกหรือซีสต์ในสมอง การบาดเจ็บจากการผ่าตัด หรือการบาดเจ็บบริเวณใบหน้า เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรค Trigeminal Neuralgia ได้มากกว่าผู้ชาย และกลุ่มคนอายุ 50-60 ปี อาจเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนกลุ่มอื่นอีกด้วย แต่โรคนี้อาจเกิดขึ้นกับคนในวัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน     

นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคนี้ได้ด้วย เช่น      

  • การพูดคุย การยิ้ม การจูบ
  • การสัมผัสที่ใบหน้า
  • การรับประทานอาหารหรือการดื่มเครื่องดื่ม
  • การล้างหน้า การแปรงฟัน การโกนหนวด   
  • การแต่งหน้า
  • การเคลื่อนไหวศีรษะ
  • การสัมผัสกับลมที่พัด หรืออากาศจากเครื่องปรับอากาศ
  • การสั่นสะเทือนจากการเดินเท้าหรือเดินทางด้วยรถยนต์

การวินิจฉัยโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า  

เนื่องจากอาการปวดมักเกิดขึ้นบริเวณขากรรไกร ฟัน และเหงือก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเข้าพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดภายในช่องปาก โดยทันตแพทย์อาจทำการเอกซเรย์ฟันเพื่อดูว่าผู้ป่วยติดเชื้อที่ฟันหรือมีฟันร้าวหรือไม่ หากไม่พบสาเหตุของอาการปวด ผู้ป่วยก็ควรเข้าพบแพทย์ในสถานพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษาเป็นลำดับต่อไป ซึ่งแพทย์อาจซักประวัติผู้ป่วย สอบถามประวัติสุขภาพ รวมถึงอาจตรวจร่างกายเพื่อดูว่าบริเวณใดที่เกิดอาการปวด และเส้นประสาทส่วนใดที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปวดด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การตรวจเส้นประสาท แพทย์อาจตรวจดูหรือกดบริเวณใบหน้าหรือขากรรไกรของผู้ป่วย เพื่อดูว่าอาการปวดเกิดขึ้นที่ใด และดูว่าผู้ป่วยมีอาการของโรค Trigeminal Neuralgia หรือไม่ รวมทั้งอาจใช้การทดสอบรีเฟล็กซ์ ซึ่งเป็นการตรวจการตอบสนองของเส้นประสาทโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อดูว่าเส้นประสาทใบหน้าของผู้ป่วยเกิดการกดทับหรือเกิดภาวะอื่น ๆ ด้วยหรือไม่
  • การตรวจด้วยภาพจาก MRI Scan เป็นการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หากแพทย์ไม่แน่ใจในผลการวินิจฉัยที่ได้จากวิธีอื่น แพทย์อาจตรวจดูบริเวณศีรษะของผู้ป่วยด้วยการทำ MRI Scan เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดบนใบหน้าที่อาจมาจากเนื้องอกบริเวณเส้นประสาทใบหน้า หรือตรวจหาความเสียหายที่เส้นประสาทที่อาจเกิดจากโรคเอ็มเอส และอาจตรวจดูว่าเส้นประสาทถูกกดทับหรือไม่ รวมถึงอาจตรวจเส้นเลือดร่วมกับการไหลเวียนของเลือด เพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำด้วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อตัดความเป็นไปได้ของโรคหรือภาวะสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอาการที่คล้ายกัน เช่น ไมเกรน อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ อาการปวดปลายประสาทหลังจากโรคงูสวัด ภาวะหลอดเลือดขมับอักเสบ อาการปวดข้อต่อที่ขากรรไกร และอาการปวดที่เส้นประสาทบริเวณอื่น ๆ เป็นต้น

การรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

ในขั้นต้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาคาร์บามาเซพีนหรือยาในกลุ่มยาต้านชักอื่น ๆ โดยยาต้านชักไม่สามารถรักษาอาการปวดได้ แต่จะช่วยคลายกระแสไฟฟ้าในเส้นประสาท ซึ่งอาจทำให้รู้สึกปวดน้อยลง และผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้เป็นประจำไม่ใช่เฉพาะช่วงที่เกิดอาการปวดเท่านั้น ทั้งนี้ อาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้ออย่างยาบาโคลเฟนและยาต้านเศร้ากลุ่มไซคลิกในการรักษาโรคนี้ได้เช่นกัน ซึ่งหากการใช้ยาไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยามากเกินไป แพทย์อาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการรักษาโรคนี้ต่อไป

โดยวิธีรักษาอื่น ๆ ที่แพทย์อาจนำมาใช้นอกเหนือจากการรับประทานยา มีดังนี้

การรักษาทางผิวหนัง

เป็นการสอดเข็มหรือท่อบาง ๆ เข้าไปที่แก้มและเส้นประสาทใบหน้าในกะโหลกศีรษะของผู้ป่วย โดยอาจให้ยาสลบระหว่างการรักษา ซึ่งมีการรักษาลักษณะนี้อยู่หลายวิธี เช่น การฉีดกลีเซอรอล การปล่อยคลื่นความถี่วิทยุ หรือการทำบอลลูน เป็นต้น โดยวิธีดังกล่าวจะช่วยทำลายเส้นประสาทใบหน้าที่ผิดปกติ แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีเลือดออกผิดปกติ ฟกช้ำที่หน้า มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา บกพร่องทางการได้ยินในหูข้างที่ได้รับผลกระทบ หรือเป็นโรคหลอดเลือดสมองแม้พบได้น้อยมาก เป็นต้น นอกจากนี้ หลังการรักษาผู้ป่วยมักมีอาการชาทั่วใบหน้าคล้ายกับการฉีดยาชาในคลินิกทันตกรรม และอาจเกิดอาการชาแบบถาวรได้

การผ่าตัด

อาจนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดหากวิธีรักษาอื่น ๆ ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง หรือยาที่รับประทานอยู่ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ดีเพียงพอ โดยการผ่าตัดที่อาจถูกนำมาใช้รักษาโรค Trigeminal Neuralgia มีดังนี้

  • การทำรังสีศัลยกรรม เป็นการใช้รังสีทำลายเส้นประสาทใบหน้าที่อยู่ในแกนสมอง โดยอาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ กว่าการรักษาจะเป็นผล แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีกว่าอาการปวดจะบรรเทาลง โดยปกติวิธีนี้ไม่ทำให้เจ็บปวดระหว่างการรักษา แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการชาหรือรู้สึกคล้ายมีเข็มทิ่มที่ใบหน้า ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบถาวรได้   
  • การผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อลดแรงกดทับที่เส้นประสาท เป็นวิธีที่ช่วยเคลื่อนย้ายหรือนำหลอดเลือดออกจากบริเวณที่อยู่ติดกับเส้นเส้นประสาท ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดเปิดกะโหลกร่วมกับการใช้ยาสลบ โดยถือเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลเป็นอย่างมาก แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างอาการชาที่ใบหน้า การสูญเสียการได้ยิน หรือทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตามมาได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

หากป่วยเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยอาจต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก น้ำหนักตัวลดลง คุณภาพชีวิตต่ำ ปลีกตัวออกจากสังคม หรือมีอาการซึมเศร้า และในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดที่รุนแรงขึ้นและไม่หายขาด

การป้องกันโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

วิธีป้องกันการเกิด Trigeminal Neuralgia อาจทำได้ยาก โดยรวมควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดโรคที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดดังกล่าว ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการปวดกำเริบได้ เช่น หากรู้สึกปวดหน้าเมื่อโดนลมปะทะ อาจปกปิดใบหน้าด้วยผ้าพันคอ กางร่มเพื่อกันลม หลีกเลี่ยงการนั่งใกล้เครื่องปรับอากาศหรือหน้าต่าง และหากมีอาการปวดเมื่อรับประทานอาหารที่เผ็ด ร้อน เย็น หรือเมื่อดื่มเครื่องดื่ม อาจงดรับประทานอาหารเหล่านี้ รวมทั้งอาจหลีกเลี่ยงการบริโภคกาแฟ ผลไม้ตระกูลส้ม หรือกล้วยด้วยก็ได้ เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวด และอาจใช้หลอดดื่มเครื่องดื่มที่เย็นหรือร้อน เพื่อป้องกันของเหลวไหลเข้าสู่บริเวณที่มีอาการปวดภายในช่องปาก และผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร ควรรับประทานอาหารที่อ่อนนุ่มหรือเป็นของเหลว อีกทั้งควรระมัดระวังการสัมผัส การขยับ หรือการเคลื่อนไหวใบหน้าด้วย