Illness name: การรักษาโรคความดันโลหิ

Description:

ความดันสูง
  • ความหมาย
  • อาการของโรคความดันสูง
  • สาเหตุของโรคความดันสูง
  • การวินิจฉัยโรคความดันสูง
  • ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันสูง
  • การรักษาโรคความดันสูง
  • การป้องกันโรคความดันสูง

การรักษาโรค ความดันสูง

Share:

แพทย์จะทำการรักษาโรคความดันสูงได้โดยดูผลวินิจฉัยของโรคเป็นหลัก เพราะโรคความดันสูงสามารถรักษาให้หายขาดได้หกาทราบถึงสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง โดยจะแตกต่างไปแล้วแต่ต้นเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ทั้งนี้ ค่าความดันโลหิตที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลจะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของผู้ป่วย

เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการรับประทาน โดยเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เน้นผักและผลไม้ เลือกอาหารประเภทปลาที่อุดมด้วยกรดไขมันอิ่มตัว หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์สีแดง อาหารไขมันสูง มีโซเดียมปริมาณมาก ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป และเลิกสูบบุหรี่

นอกเหนือจากการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย แพทย์อาจใช้ยารักษาควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยลดระดับความดันโลหิตให้ลดลง ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคความดันสูงมีหลักการทำงานและออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน อาจเป็นการไปหยุดหรือลดกระบวนการทำงานของร่างกายในบางส่วน โดยจะใช้รักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เช่น

  • ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เป็นยาที่ส่งผลต่อการทำงานของไต โดยจะช่วยขับโซเดียมส่วนเกินและน้ำออกจากร่างกาย รวมไปถึงลดความดันโลหิตลง ซึ่งยาชนิดนี้มักจะใช้ร่วมกับยาความดันสูงประเภทอื่น ๆ หรืออาจเป็นยาชนิดรวมในหนึ่งเม็ด เช่น ยาไธอาไซด์ (Thiazide Diuretics) ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) ยาคลอร์ธาลิโดน (Chlorthalidone)
  • ยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) เป็นยาปิดกั้นการทำงานของเบต้า รีเซ็ปเตอร์ที่ทำให้หัวใจเต้นช้าและมีแรงต้านน้อยลง ส่งผลให้หัวใจบีบตัวในการส่งเลือดน้อยลง จึงช่วยในการลดความดันโลหิตลงได้ เช่น ยาคาวีไดออล (Carvedilol) และยาอะทีโนลอล (Atenolol)
  • ยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (Angiotensin-Converting Enzyme Inhibitors: ACE Inhibitors) เป็นยาที่ช่วยยับยั้งการทำงานของแองจิโอเทนซิน 2 (Angiotensin II) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการตีบตันและเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น เมื่อฮอร์โมนชนิดนี้ถูกยับยั้ง หลอดเลือดจึงไม่เกิดการตีบตันและหัวใจไม่ต้องทำงานหนักด้วยการเพิ่มแรงดันภายในหลอดเลือด เช่น ยาลิซิโนพริล (Lisinopril) บีนาซีพริล (benazepril) ยาแคปโตพริล (Captopril)  
  • ยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium Channel Blockers) เป็นยาที่ช่วยหลอดเลือดคลายตัว เช่น ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) และยาดิลไทอะเซม (Diltiazem)
  • ยาในกลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers) ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและขยายหลอดเลือดเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้อย่างสะดวก เช่น ด็อกซาโซซิน (Doxazosin) และยาพราโซซิน (Prazosin)
  • ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง (Centrally Acting Agents) เพื่อช่วยระงับสารสื่อประสาทที่ทำให้หลอดเลือดตีบตัน ซึ่งจะลดความดันโลหิตลง เช่น ยาโคลนิดีน (Clonidineclonidine) และเมทิลโดปา (Methyldopa)
  • ยาในกลุ่มวาโสไดเลเตอร์ (Vasodilators) ออกฤทธิ์โดยตรงกับกล้ามเนื้อในผนังหลอดเลือดและช่วยป้องกันการหดตัวของหลอดเลือดให้แคบลง เช่น ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) และยาไมนอกซิดิล (Minoxidil)

สำหรับการใช้ยาเพื่อรักษาโรคความดันสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต แต่ในบางรายที่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีและปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น เลิกสูบบุหรี่หรือลดน้ำหนักส่วนเกินลงได้เป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยาไปตลอด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำถึงระยะเวลาในการใช้ยาที่เหมาะสม ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาเองในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงขึ้น แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงนั้น ๆ โดยแพทย์อาจมีการปรับเปลี่ยนปริมาณยาหรือเปลี่ยนยาชนิดใหม่ให้ทดแทน นอกจากนี้ผู้ป่วยควรมีการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เพราะความดันโลหิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้แม้อยู่ในช่วงการใช้ยา

ภาวะแทรกซ้อนของโรค ความดันสูง
การป้องกันโรค ความดันสูง