Illness name: เหงือกอักเสบ

Description:

เหงือกอักเสบ

ความหมาย เหงือกอักเสบ

Share:

เหงือกอักเสบ (Gingivitis) คือโรคเหงือก (ปริทันต์) ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยและไม่รุนแรง ซึ่งทำให้เกิดอาการระคายเคือง บวมแดง อักเสบที่เหงือก เนื่องจากเหงือกอักเสบเป็นโรคที่ไม่ได้มีความรุนแรง คนส่วนใหญ่จึงไม่ใส่ใจและไม่มีการระมัดระวังมากนัก แท้จริงแล้วอาจนำไปสู่โรคเหงือกอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงขึ้นและนำไปสู่การสูญเสียฟันในที่สุด ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญและควรรักษาอย่างทันท่วงที

อาการของเหงือกอักเสบ

สุขภาพเหงือกที่ดีจะมีสีชมพูอ่อนและมีความแข็งแรง แต่หากว่าเหงือกบวม มีสีแดงเข้มและมีเลือดออกได้ง่าย อาจเป็นอาการของเหงือกอักเสบ เหงือกอักเสบเป็นโรคที่แทบไม่ทำให้รู้สึกถึงอาการเจ็บปวดใด ๆ ซึ่งทำให้อาจเป็นเหงือกอักเสบได้โดยที่ไม่ทันรู้ตัว

สัญญาณและอาการของเหงืออักเสบ มีดังนี้เช่น

  • เหงือกบวม เหงือกนิ่มผิดปกติ หรือเหงือกร่น
  • เลือดออกได้ง่าย เมื่อแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน บางครั้งจะเห็นสีแดงหรือชมพูติดอยู่ที่แปรงสีฟันหรือไหมขัดฟัน
  • การเปลี่ยนแปลงของสีเหงือก จากที่มีสีชมพูดูสุขภาพดีกลายเป็นสีแดงเข้มหรือคล้ำ
  • มีกลิ่นปาก หรือรู้สึกมีรสชาติที่ไม่ดีภายในปาก
  • เหงือกมีหนอง
  • ฟันโยก

สาเหตุของเหงือกอักเสบ

สาเหตุที่พบได้บ่อยของเหงือกอักเสบ คือการดูแลสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี จนทำให้เกิดคราบพลัคขึ้น ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ คราบพลัค คือคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน เหมือนฟิล์มที่เคลือบฟันเอาไว้ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย เมื่อคราบพลัคอยู่ที่ฟันยาวนานมากกว่า 2-3 วันสามารถทำให้เกิดคราบหินปูนอยู่ตามร่องเหงือก และหินปูนสามารถก่อตัวจากสารที่อยู่น้ำลายได้อีกด้วย ยิ่งมีคราบพลัคและหินปูนอยู่ที่ฟันยาวนานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เหงือกเกิดความระคายเคืองมากเท่านั้น เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เหงือกก็จะเกิดอาการบวมและมีเลือดออก กลายเป็นเหงือกอักเสบในที่สุด นอกจากนั้นยังส่งผลทำให้เกิดฟันผุได้อีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ มีดังต่อไปนี้

  • พฤติกรรมการดูแลสุขภาพในช่องปากที่ไม่ดี
  • ปากแห้ง
  • สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
  • มีอายุที่เพิ่มขึ้น
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • มีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง อันเป็นผลมากจากลูคีเมีย หรือโรคเอชไอวี
  • การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยารักษาอาการชัก (Anticonvulsant) และยาไดแลนติน (Dilantin)
  • มีการติดเชื้อไวรัสและเชื้อราบางชนิด
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ มีประจำเดือน หรือมีการใช้ยาคุมกำเนิด
  • การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่ครบถ้วน

การวินิจฉัยเหงือกอักเสบ
การวินิจฉัยโรคเหงือกของทันตแพทย์ จะขึ้นอยู่กับอาการและการตรวจสุขภาพฟัน เหงือก ปากและลิ้น ซึ่งทันตแพทย์จะตรวจดูว่ามีคราบพลัคและหินปูอยู่หรือไม่ และตรวจดูความผิดปกติของเหงือก เช่น มีอาการบวมแดงหรือมีเลือดออกหรือไม่

หากว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของเหงือกอักเสบ ทันตแทย์อาจแนะนำให้มีการประเมินผลทางการแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • ตรวจดูว่าเหงือกมีเลือดออก มีอาการบวม ตรวจดูความแข็งแรงของเหงือก และช่องว่างระหว่างเหงือกและฟันมีขนาดใหญ่หรือลึกหรือไม่
  • ประเมินการเคลื่อนที่ของฟันและการตอบสนองต่อการเสียวฟัน หรือตำแหน่งของฟัน
  • ตรวจสอบกระดูกขากรรไกร เพื่อตรวจดูความเสียหายของกระดูกรอบ ๆ ฟัน

การรักษาเหงือกอักเสบ

ควรได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีเพื่อควบคุมอาการและป้องกันการลุกลามของเหงือกอักเสบไม่ให้ร้ายแรงกว่าเดิมจนอาจทำให้สูญเสียฟันได้ ซึ่งการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญและแตกต่างกันตามระยะ โดยเริ่มต้นด้วยการดูแลสุขภาพความสะอาดของช่องปากด้วยตัวเองที่บ้าน และการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญหรือทัตแพทย์ เช่น

  • การประเมินผลในเบื้องต้น และทำความสะอาดช่องปากเพื่อกำจัดคราบพลัคและหินปูน
  • สอนการแปรงฟันอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเทคนิคการใช้ไหมขัดฟัน
  • การตรวจสุขภาพช่องปากและการทำความสะอาดโดยทันตแพทย์
  • อาจต้องมีการครอบฟันหรืออุดฟัน
  • เพิ่มการใช้น้ำยาบ้วนปากในระหว่างวัน ซึ่งสามารถช่วยควบคุมการเกิดคราบพลัคได้
  • ใช้ยาแก้ปวดยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ช่วยลดอาการปวดหรือรู้สึกไม่สบาย
  • เลิกสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการสะสมของคราบพลัค

ภาวะแทรกซ้อนของเหงือกอักเสบ

เหงือกอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่โรคเหงือกคือ เยื่อหุ้มฟันอักเสบ ที่ลามไปยังเนื้อเยื่อและกระดูก ซึ่งสามารถทำให้สูญเสียฟันได้ในที่สุด

เยื่อหุ้มฟันอักเสบและพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี อาจมีผลกับสุขภาพร่างกายโดยรวม ซึ่งยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างแน่ชัด และนักวิจัยยังไม่มีการยืนยันว่าโรคเหงือกอักเสบเป็นสาเหตุที่แท้จริงของภาวะต่อไปนี้ แต่สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ การเป็นโรคเหงือกอักเสบอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคเหล่านี้

  • หัวใจวาย
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคปอด
  • การคลอดก่อนกำหนด หรือกมีทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

การป้องกันเหงือกอักเสบ

การป้องกันเหงือกอักเสบที่ดีที่สุด คือการให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจในการรักษาสุขอนามัยของช่องปากอย่างถูกต้อง โดยตั้งแต่เริ่มต้นไปจนการปฏิบัติไปตลอดชีวิต

การทำความสะอาดช่องปากทั้งการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน ควรใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที โดยการใช้ไหมขัดฟันก่อนการแปรงฟันจะช่วยกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างและแบคทีเรียได้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ควรพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อทำความสะอาดช่องปากจากแพทย์ ทุก ๆ 6-12 เดือน หากมีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นเหงือกอักเสบ อาจต้องพบและทำการทำความสะอาดช่องปากจากทันตแพทย์บ่อยครั้งขึ้น