Illness name: คันคอ

Description:

คันคอ

ความหมาย คันคอ

Share:

คันคอ (Itchy Throat) เป็นอาการสำคัญของโรคภูมิแพ้ อาการแพ้ หรือสัญญาณเริ่มแรกของการเจ็บป่วย เช่น ไข้หวัด คออักเสบ และไซนัสอักเสบ รวมไปถึงการสูดดมสารระคายเคืองเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการคันคอและระคายเคืองได้ อาการคันคอมักไม่ได้เกิดจากสาเหตุรุนแรง แต่มักสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ที่เป็นและสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเอง

อาการคันคอ

อาการคันคออาจทำให้รู้สึกคัน ระคายเคืองหรือรู้สึกบวมที่คอ และอาจต้องกระแอมไออยู่บ่อยครั้งเพื่อให้หายคัน นอกจากนั้น การแยกแยะอาการระหว่างอาการคันคอกับอาการอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันมีความสำคัญ เพราะอาการคันคอโดยปกติจะไม่ทำให้รู้สึกแสบคอมาก หรือไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก และไม่เป็นอันตราย

แต่อาการดังกล่าวหรืออาการอื่นที่คล้ายคลึงกับอาการคันคอ อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงกว่าอาการคันคอทั่วไป หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 10 วัน รวมไปถึงมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์

  • หายใจมีเสียง
  • หายใจตื้น หรือหายใจลำบาก
  • เป็นลมพิษ
  • ปวดศีรษะรุนแรง หรือเจ็บคอ
  • หน้าบวม
  • กลืนแล้วเจ็บ

สาเหตุของอาการคันคอ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คันคอ ได้แก่

  • อาการแพ้หรือโรคภูมิแพ้ เป็นสาเหตุที่พบบ่อย โดยอาการแพ้จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ฝุ่น เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ หรืออาหารและยารักษาโรคบางชนิด อาการภูมิแพ้จะมีตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงมาก โดยอาการคันคอจัดว่าเป็นกลุ่มอาการที่ไม่รุนแรง แต่จะก่อให้เกิดความรำคาญหรือไม่สบาย
  • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) หรือที่เรียกว่า ไข้ละอองฟาง (Hay Fever) เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ สะเก็ดหนังสัตว์ ไรฝุ่น ควันหรือน้ำหอม ทำให้เกิดอาการไอ คัดจมูก และน้ำมูกไหล
  • การสูดมลพิษ เช่น สารเคมี ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด บุหรี่ หรือยาฆ่าแมลง
  • ไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย มักเริ่มต้นจากมีอาการคันคอก่อนที่จะเกิดอาการเจ็บคอตามมา รวมไปถึงอาการอื่น ๆ เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือปวดศีรษะ
  • ไซนัสอักเสบ อาจมีอาการคันคอจากการมีเสมหะไหลลงมาบริเวณคอโดยเฉพาะเวลานอน และมักเป็นหวัดเรื้อรัง น้ำมูกเขียว และคัดจมูกร่วมด้วย

การวินิจฉัยคันคอ

แพทย์จะวินิจฉัยอาการคันคอโดยเริ่มจากการซักประวัติและอาการของผู้ป่วย รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีอาการคันคอหลังจากเดินทางไปข้างนอก ซึ่งผู้ป่วยอาจแพ้ฝุ่นหรือเกสรดอกไม้ที่อยู่นอกบ้าน หรือหากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจแพ้อาหาร แพทย์ก็อาจให้ผู้ป่วยจดบันทึกอาหารที่รับประทานและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารเหล่านั้น

นอกจากนั้น แพทย์จะตรวจคอเพื่อตรวจสอบอาการต่าง ๆ เช่น บวม แดง มีเสมหะ สัญญาณของการอักเสบ ไซนัสหรือน้ำมูก รวมไปถึงการตรวจอื่น ๆ ได้แก่

  • การทดสอบภูมิแพ้ ด้วยการให้ผิวหนังสัมผัสกับสารที่สงสัยว่าจะทำให้เกิดการระคายเคือง หรือบางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีตรวจเลือด
  • ตรวจเลือดหรือป้ายลำคอเพื่อเพาะเชื้อ (Throat Swab) ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

การรักษาอาการคันคอ

การรักษาอาการคันคอขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการคันคอมักจะมาจากภูมิแพ้หรืออาการแพ้ต่าง ๆ  ซึ่งรักษาได้ดงนี้

  • ภูมิแพ้ แพทย์จะให้ยาแก้แพ้ที่มีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่ายาแก้แพ้ที่จำหน่ายตามร้านขายยา ในกรณีที่ซื้อยาใช้เองแล้วไม่ดีขึ้น และแพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำความสะอาดห้องนอนเพื่อกำจัดฝุ่นหรือไรฝุ่น หรือให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป โดยยาที่นิยมนำมาใช้รักษาภูมิแพ้ เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) หรือยาบิลาสทีน (Bilastine) เป็นต้น
  • แพ้อาหาร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้จะวินิจฉัยและทดสอบเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยแพ้อาหารชนิดใด จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ และให้ระวังการรับประทานอาหาร หรือตรวจสอบส่วนผสมที่อยู่ในอาหารทุกครั้ง
  • แพ้ยา หากพบว่ามีอาการแพ้ยา ซึ่งมักจะเกิดหลังหลังจากที่ใช้ยาประมาณ 1 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ผื่นที่ผิวหนัง ลมพิษ คัน มีไข้ หายใจตื้น หรือหายใจมีเสียง ควรพบแพทย์ทันที ซึ่งแพทย์อาจรักษาเบื้องต้นด้วยการให้หยุดใช้ยา ให้ยาแก้แพ้ ให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) หรือให้ฉีดยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) เพื่อรักษาอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นต้น
  • ไข้หวัด แพทย์อาจให้ยาลดน้ำมูก ร่วมกับการล้างจมูกเพื่อลดภาวะเสมหะไหลลงคอ
  • ไซนัสอักเสบ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับยาลดคัดจมูก ยาแก้ไอละลายเสมหะร่วมกับการล้างจมูก เพื่อช่วยระบายเสมหะและลดภาวะเสมหะไหลลงคอ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการคันคอ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการคันคอจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคภูมิแพ้ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • โรคภูมิแพ้ขั้นรุนแรง (Anaphylaxis) เป็นภูมิแพ้ชนิดที่รุนแรงที่สุด อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ลมพิษ คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่แพ้อาหาร แพ้แมลง และแพ้ยา
  • โรคหืด (Asthma) ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีโอกาสเป็นโรคหืดได้ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อทางเดินหายใจและการหายใจ
  • โพรงจมูกอักเสบและการติดเชื้อที่หูและปอด มักจะเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหืด
  • ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา (Allergic Fungal Sinusitis) และปอดอักเสบจากเชื้อรา (Allergic Bronchopulmonary Aspergillosis)

การป้องกันอาการคันคอ

อาการคันคอป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือการป้องกันตนเองจากการได้รับเชื้อซึ่งอาจทำให้เป็นไข้หวัด เจ็บคอ หรือการติดเชื้ออื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุให้คันคอ โดยสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ เช่น

  • ดื่มน้ำในปริมาณมาก
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือและเบคกิ้งโซดา (Baking Soda) ซึ่งช่วยลดการอักเสบที่คอได้ โดยนำเกลือ 1 ช้อนชา และเบคกิ้งโซดาครึ่งช้อนชา ผสมลงไปในน้ำสะอาดประมาณ 240 มิลลิลิตร
  • ใช้ยาอมหรือสเปรย์ ที่มีฤทธ์ทำให้คอรู้สึกชา เช่น ยาเบนโซเคน (Benzocaine) น้ำมันยูคาลิปตัส เมนทอล เป็นต้น
  • ใช้สเปรย์ที่มีส่วนผสมของคาโมไมล์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงช่วยลดอาการเจ็บคอหรือการระคายเคืองภายในช่องปากและลำคอในระยะเริ่มต้นได้ สามารถใช้ในระหว่างวันเมื่อมีอาการ โดยสเปรย์นี้หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถขอคำแนะนำหรือสอบถามได้จากเภสัชกรโดยตรง แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงติดต่อกันนานหลายวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันอาการคันคอที่มาจากไข้หวัด หรือการติดเชื้อต่าง ๆ
  • ล้างจมูก เพื่อช่วยลดภาวะเสมหะไหลลงคอและช่วยชะล้างสารก่อภูมิแพ้ในทางเดินหายใจ