Illness name: การรักษากรดไหลย้อ

Description:

กรดไหลย้อน
  • ความหมาย
  • อาการของกรดไหลย้อน
  • สาเหตุของกรดไหลย้อน
  • การวินิจฉัยกรดไหลย้อน
  • การรักษากรดไหลย้อน
  • ภาวะแทรกซ้อนของกรดไหลย้อน
  • การป้องกันอาการกรดไหลย้อน

การรักษา กรดไหลย้อน

Share:

การรักษาอาการกรดไหลย้อน

การรักษาภาวะกรดไหลย้อนมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

โรคกรดไหลย้อนในกรณีทั่วไปสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น รับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอน ไม่สูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย เป็นต้น

การรับประทานพรีไบโอติก

พรีไบโอติกเป็นแหล่งอาหารสำหรับโพรไบโอติกหรือจุลินทรีย์อย่างแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ พบได้ในหัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ หรือผลไม้อย่างกล้วย โดยเฉพาะกล้วยดิบ เพราะมีส่วนประกอบของไฟเบอร์หรือใยอาหารอย่างอินูลินและแป้งชนิดที่ทนการย่อยต่อเอนไซม์ชนิดที่ 2 (Resistant Starch 2: RS2) จัดเป็นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ เป็นอาหารของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ของคน ทำให้รู้สึกอิ่มง่ายและลดการรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไปอันเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกรดไหลย้อน

นอกจากนั้น แป้ง Resistant Starch ที่ผ่านการย่อยแล้วจะได้กรดไขมันสายสั้นอย่างบิวไทเรต (Butyrate) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ในลำไส้ใหญ่ พร้อมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินอาหารและการทำงานของระบบย่อยอาหาร

หากมีปัญหาในระบบย่อยอาหารอาจรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติก หรือผลิตภัณฑ์จากอาหารในกลุ่มดังกล่าวอย่างผลิตภัณฑ์จากกล้วยดิบที่หาได้ง่ายในไทย ทั้งนี้ การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคุณประโยชน์ต่อสุขภาพลำไส้และความปลอดภัยในการใช้พรีไบโอติกเหล่านี้ยังเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะในระยะยาวหรือหากหวังผลในการรักษาโรค

การใช้ยา

กรณีที่ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยยาควบคู่ไปด้วย โดยยาที่นำมาใช้รักษาในปัจจุบันแบ่งได้หลายกลุ่ม ดังนี้

  • ยาลดกรด ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง โดยยาลดกรดจะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากกรดในกระเพาะอาหาร
  • ยาประเภทยับยั้งการหลั่งกรด เพื่อป้องกันการหลั่งกรดจากกระเพาะอาหารที่มากจนเกินไป โดยอาจใช้ยากลุ่มยับยั้งตัวรับฮิสทามีนชนิดที่ 2 อย่างยาแรนิทิดีน หรือยายับยั้งการหลั่งกรดในกลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ ที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้นานและมีประสิทธิภาพมากกว่ายากลุ่มแรก อย่างยาโอเมพราโซล
  • ยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กได้เร็วขึ้น และยังช่วยเพิ่มแรงบีบในระบบทางเดินอาหารเพื่อไม่ให้อาหารตกค้างนาน เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การใช้ยาเหล่านี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้มีการตรวจรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม

การผ่าตัด

หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกรดไหลย้อนที่มีอาการรุนแรง มีเลือดออกหรือมีแผลในหลอดอาหารจนกลืนอาหารได้ลำบาก ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยา หรือกลับมาเป็นกรดไหลย้อนซ้ำหลังหยุดใช้ยา แพทย์อาจต้องผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องหรือผ่านกล้องเพื่อช่วยซ่อมแซมหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง และป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนขึ้นมาอีก

การวินิจฉัย กรดไหลย้อน
ภาวะแทรกซ้อนของ กรดไหลย้อน