Illness name: ปาน

Description:

ปาน

ความหมาย ปาน

Share:

ปาน (Birthmarks) คือร่องรอยของจุดสีบนผิวหนัง ซึ่งมักปรากฏขึ้นเมื่อแรกคลอดหรือหลังคลอดได้ไม่นาน ปานมีทั้งลักษณะเรียบและนูน ขนาดเล็กและใหญ่ อีกทั้งสีก็แตกต่างกันไป อาจปรากฏอยู่บนผิวหนังตลอดชีวิตหรือค่อย ๆ หายไปเมื่อโตขึ้น

สามารถแบ่งปานออกเป็น 2 ชนิดหลัก ดังนี้

  • ปานแดง (Vascular Birthmarks) คือสีผิวที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากลักษณะของหลอดเลือดที่ผิดปกติ มักปรากฏบนผิวหนังเด็กแรกคลอด หรือปรากฏขึ้นหลังจากที่เด็กคลอดออกมาได้ไม่นาน มักมีสีชมพู ม่วง หรือแดง ปานแดงยังแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลัก ได้แก่
    • แซลมอน แพตช์ (Salmon Patch) หรือปานเส้นเลือดแดง (Stork Bites) คือปานออกสีแดงหรือชมพู มีลักษณะเรียบ พบทั่วไป และพบบ่อยถึง 1 ใน 3 ของเด็กแรกเกิด มักปรากฏบริเวณท้ายทอย เปลือกตา หรือหน้าผากบริเวณหว่างคิ้ว โดยทั่วไป ปานจะหายไปเองภายในไม่กี่เดือน แต่ปานที่เกิดขึ้นบนหน้าผากนั้นจะใช้เวลา 4 ปีจึงจะหายไป ส่วนปานที่อยู่บนท้ายทอยจะไม่หายไป
    • ปานสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) คือจุดสีแดงนูน เล็ก นุ่ม และบีบได้ ส่วนใหญ่จะขึ้นบนใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอกหรือหลัง ทารกแรกเกิดอาจมีปานแดงชนิดนี้ได้ แต่ส่วนมากมักปรากฏขึ้นเมื่อเด็กอายุได้ 1-2 เดือน นอกจากนี้ ปานสตรอว์เบอร์รี่มักฝังลึกอยู่ในผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง ขนาดของปานขยายเร็วในช่วง 6 เดือนแรกก่อนค่อย ๆ หดเล็กลงและหายไปเมื่ออายุประมาณ 7 ปี หากเด็กมีปานแดงที่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือขึ้นในตำแหน่งที่ส่งผลต่อการหายใจ การมองเห็น หรือการกิน อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาให้ปานมีขนาดเล็กลงหรือผ่าตัดออก
    • ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain) คือปานแดงถาวรซึ่งปรากฏเมื่อแรกคลอด มักเริ่มมีสีชมพูหรือแดง และคล้ำเมื่อโตขึ้น ปานมักมีลักษณะใหญ่และเกิดบนใบหน้าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือที่คอ ปานแดงชนิดนี้มีแนวโน้มไวต่อฮอร์โมน กล่าวคือ เห็นได้ชัดเมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงจากการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ตั้งครรภ์ หรือเข้าสู่วัยทอง
  • ปานดำ (Pigmented Birthmarks) คือจุดสีบนผิวที่มีทั้งลักษณะเรียบหรือนูน โดยเม็ดสีเมลานินที่อยู่ในชั้นผิวนั้นมีมากเกินไป ปานดำมักปรากฏตั้งแต่แรกเกิด มีทั้งสีน้ำตาล ดำ น้ำเงิน หรือน้ำเงินเทา โดยแต่ละชนิดมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
    • ปานสีกาแฟใส่นม (Café-Au-Lait Spots) คือจุดหรือรอยปื้นสีแทนหรือน้ำตาล รูปร่างทรงรีคล้ายไข่ มักปรากฏขึ้นตอนแรกเกิดหรือตอนยังเล็ก เป็นปานดำถาวรที่พบได้ทั่วไป เด็กมักมีปานดำชนิดนี้แค่ 1 หรือ 2 จุด แต่หากมีมากกว่า 6 จุด ควรพบแพทย์ เนื่องจากปานลักษณะดังกล่าวอาจเป็นอาการหนึ่งของโรคท้าวแสนปม
    • ปานมองโกเลียน (Mongolian Spots) ปานดำชนิดนี้มีสีน้ำเงินเทา คล้ายรอยเขียวฟกช้ำ มักพบได้ทั่วไปในผู้ที่มีสีผิวเข้ม และมักเกิดขึ้นบริเวณหลังส่วนล่างหรือก้น อย่างไรก็ตาม ปานมองโกเลียนเกิดขึ้นได้ทุกส่วนตามร่างกาย โดยปานจะปรากฏนานร่วมเดือนหรือเป็นปี และหายไปเมื่ออายุ 4 ปี ปานดำชนิดนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
    • ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi) คือไฝสีดำเข้ม ขนาดใหญ่ ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด มักปรากฏตามหนังศีรษะหรือแขนขา ปานดำชนิดนี้เกิดจากการผลิตเซลล์เม็ดสีผิวมากเกินไป ส่วนใหญ่ ปานจะค่อย ๆ เล็กลงจนจางหายไปเอง หรืออาจเข้มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์ หรือมีลักษณะบุ๋มเป็นหลุม มีขนขึ้น ขนาดของปานมีตั้งแต่เล็กกว่า 1.5 เซนติเมตร จนถึงใหญ่กว่า 20 เซนติเมตร เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของปาน หากปานมีขนาดใหญ่มากถือว่าเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังสูง

อาการของปาน

สัญญาณหรืออาการของปานแดงและปานดำนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของปาน ปานทั้ง 2 ชนิดปรากฏสัญญาณและอาการ ดังนี้

  • สัญญาณหรืออาการของปานแดง ลักษณะของปานแดง มักเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดหรือหลังจากคลอดออกมาแล้วไม่นาน ซึ่งรอยปานจะคล้ายหลอดเลือด ผู้ที่มีปานแดงจะไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือเกิดอาการใด ๆ นอกเหนือไปจากสีผิวที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ปานแดงบางชนิดที่ปรากฏบนส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายและส่งผลกระทบต่ออวัยวะอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เช่น ปานสตรอว์เบอร์รี่ที่ขึ้นบริเวณคออาจไปบีบหลอดลม ทำให้หายใจไม่สะดวก หรือหากปานขึ้นที่บริเวณตาหรือหู อาจทำให้ความสามารถทางการมองเห็นและได้ยินลดลง นอกจากนี้ ปานแดงเส้นเลือดฝอยนั้นเกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น เด็กบางรายที่มีปานนี้รอบเปลือกตา มักป่วยด้วย   สเตอร์จเวเบอร์ (Sturge-Weber Syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวกับต้อหิน อาการชักและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
  • สัญญาณหรืออาการของปานดำ ผู้ที่มีปานดำจะมีความผิดปกติของสีผิวที่เข้มหรืออ่อน ปานมีสีน้ำตาล ดำ หรือน้ำเงินเทา ซึ่งมีขนาดแตกต่างกัน รวมทั้งลักษณะเรียบหรือนูน นอกจากนี้ ปานดำอาจขยายใหญ่ขึ้น สีเปลี่ยน เกิดอาการระคายเคือง และมีเลือดออกบ้าง

ทั้งปานแดงและปานดำ ล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงแต่พบได้ไม่บ่อยนัก เด็กที่มีปานแต่แรกเกิดควรได้รับการตรวจจากกุมารแพทย์ โดยแพทย์จะตรวจปานเพื่อระบุว่าเป็นปานชนิดใดและควรได้รับการรักษาด้วยวิธีใดในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าปานนั้นเกี่ยวข้องกับอาการของโรค สำหรับปานแดงซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด หากพบว่ามีเลือดออก เจ็บ ระคายเคือง หรือติดเชื้อ ควรรีบพบแพทย์ และหากได้รับบาดเจ็บบริเวณปาน ควรทำความสะอาดแผลด้วยสบู่และน้ำเปล่า วางผ้าพันแผลบนแผลและกดห้ามเลือด หากเลือดไหลไม่หยุด ควรพบแพทย์ทันที สำหรับผู้ที่มีปานดำควรหมั่นตรวจดูเรื่อย ๆ ว่าไฝมีขนาด สี หรือพื้นผิวเปลี่ยนแปลงหรือไม่

สาเหตุการเกิดปาน

สาเหตุของการเกิดปานไม่ปรากฏแน่ชัด และไม่ใช่จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม ปานส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เซลล์เคลื่อนตัวผิดปกติระหว่างที่ตัวอ่อนเริ่มเจริญขึ้น กล่าวคือ เซลล์จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิตเนื้อเยื่อตามลักษณะของเซลล์ขึ้นมา โดยเซลล์อาจผลิตเนื้อเยื่อมากเกินไป รวมทั้งไม่เคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งของเนื้อเยื่อนั้น ๆ ส่งผลให้เกิดปานขึ้นมาได้

ทั้งนี้ สาเหตุของปานแดงเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของหลอดเลือดใต้ผิวหนัง ส่วนปานที่เป็นสีแดงหรือม่วงนั้นเกิดจากเส้นประสาทที่ควบคุมหลอดเลือดฝอยทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เลือดเข้าไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา ส่วนสาเหตุของปานดำเกิดจากการผลิตจำนวนเม็ดสีมากเกินไป จึงทำให้สีผิวผิดปกติ

การวินิจฉัยปาน

โดยส่วนใหญ่ การวินิจฉัยปานแดงและปานดำมักดูจากลักษณะของปานที่ปรากฏบนผิวหนัง ปานแดงบางชนิดอย่างปานแดงสตรอว์เบอร์รี่หรือปานแดงเส้นเลือดฝอยซึ่งปรากฏบริเวณที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่น แพทย์อาจขอตรวจด้วยภาพสแกนต่าง ๆ เช่น ซีที สแกน หรือการทำเอ็มอาร์ไอ ส่วนปานดำแต่กำเนิดหรือไฝดำที่กลายเป็นมะเร็งได้นั้น อาจต้องได้รับการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป

การรักษาปาน

ปานบางชนิดเป็นปานที่เกิดขึ้นชั่วคราวและหายไปเอง ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา สำหรับผู้ที่มีปานชนิดถาวรนั้น หากต้องการให้ปานหายไป สามารถตกแต่งเพื่อปกปิดรอยปาน ส่วนการรักษารอยปานให้หายไปนั้นขึ้นอยู่ว่าผิวหนังที่ปรากฏปานเป็นเนื้อเยื่อบริเวณใด ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดศัลยกรรม การยิงเลเซอร์ และการใช้รังสี ทั้งนี้ ปานบางชนิดก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ผู้ที่มีปานจำเป็นต้องได้รับการรักษา ดังนี้

  • ปานแดงสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) ปานแดงชนิดนี้บางครั้งก็หายไปเองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่บางครั้งก็ไม่หายไปจนกว่าเด็กจะอายุ 5 ปี หรือ 12 ปี การรักษาปานแดงชนิดนี้ประกอบด้วย
    • ศัลยกรรมตกแต่ง หากปานแดงทำให้ผิวหนังผิดรูปหรือย้วย อาจศัลยกรรมเพื่อช่วยรักษาลักษณะผิวหนังที่เสียหายนั้นให้ดีขึ้น ทั้งนี้ หากปานแดงกลายเป็นฝี สามารถผ่าตัดเอาฝีออกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
    • การให้ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ส่วนใหญ่แล้ว วิธีรักษาปานแดงชนิดนี้ที่มีประสิทธิภาพคือการรักษาด้วยยา โดยยาโพรพราโนลอลจะช่วยลดขนาดปานให้เล็กลง เพราะยานี้ช่วยให้หลอดเลือดแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ไหลไปเลี้ยงบริเวณที่เกิดปานน้อยลงด้วย จนนำไปสู่ปานแดงที่มีสีอ่อนลง นุ่มขึ้น และเล็กลง
  • ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain) การรักษาปานแดงชนิดนี้เพื่อให้ปานแดงลบเลือน การใช้เลเซอร์เป็นเพียงวิธีเดียวที่รักษาปานแดงเส้นเลือดฝอยได้ โดยทำให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดปานอ่อนลง การยิงเลเซอร์จะเห็นผลในเด็กมากกว่า เนื่องจากการยิงเลเซอร์รักษาปานแดงชนิดนี้สำหรับผู้ใหญ่อาจทำให้ปานเป็นหลุมและนูนขึ้นมาหลังผ่านไปหลายปี เพาซ์ดายด์เลเซอร์ (Pulsed Dye Laser) ถือเป็นวิธีรักษาด้วยเลเซอร์ที่พบได้ทั่วไปมากที่สุด โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์สำหรับยิงเลเซอร์วางบนผิวและกดปุ่มเพื่อยิงเลเซอร์เข้าไปในผิว เลเซอร์จะผ่านเข้าไปในผิวน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร จากนั้นจะซึมเข้าหลอดเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ร้อนขึ้น ซึ่งความร้อนจะทำลายหลอดเลือด หลังจากนั้น แพทย์จะทำให้ผิวหนังเย็นลงเพื่อลดอาการไม่สบายในบริเวณที่ยิงเลเซอร์ อย่างไรก็ตาม การยิงเลเซอร์ก่อให้เกิดผลข้างเคียงบ้าง อาจเกิดรอยช้ำบนผิวซึ่งดูแย่กว่าเดิม แต่รอยช้ำนี้จะหายไปหลัง 1-2 สัปดาห์ รวมทั้งผิวหนังอาจไหม้แดดได้ง่ายหลังยิงเลเซอร์ ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นหลัง 6 เดือนขึ้นไป
  • ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi) เนื่องจากปานดำชนิดนี้ส่งผลต่อรูปลักษณ์ ผู้ที่มีปานอาจรักษาด้วยการศัลยกรรม โดยแพทย์จะผ่าตัดนำปานดำออกไปและเย็บผิวหนังเข้ามาติดกันเหมือนเดิมให้เรียบร้อย หากบริเวณที่ผ่าตัดมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจนำผิวหนังส่วนอื่นมาปะผิวหนังบริเวณดังกล่าว

ภาวะแทรกซ้อนของปาน

โดยส่วนใหญ่ ปานแดงและปานดำที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่ปานบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและต้องได้รับการรักษา ซึ่งภาวะแทรกซ้อนแบ่งได้ตามชนิดของปาน ดังนี้

  • ภาวะแทรกซ้อนของปานแดง ผู้ที่เกิดปานแดงชนิดปานแดงสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) และปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain) จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
    • ปานแดงสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากปานแดงชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย แต่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากปานแดงส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร การหายใจ หรือการมองเห็น จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที เด็กที่มีปานแดงบริเวณตา จมูก ปาก หรือก้น มีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อ หากมีเลือดออกต้องกดห้ามเลือดจนกว่าเลือดจะหยุดไหล และหากปานนั้นทำให้เกิดฝี อาจอักเสบและทำให้เจ็บปวดได้ ควรรักษาความสะอาดและปิดแผลให้เรียบร้อย แผลหายได้ภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับเด็กที่มีปานแดงชนิดนี้มากกว่า 5 จุด อาจมีปานแดงขึ้นภายในร่างกาย ควรได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวด์หรือการทำเอ็มอาร์ไอ ทั้งนี้ ปานแดงที่ขึ้นภายในร่างกายจะทำให้ไอหรือหายใจลำบาก เลือดออกปนมากับอุจจาระ ซึ่งอาการไอและหายใจลำบากเป็นสัญญาณของปานแดงที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ ส่วนอาการเลือดออกปนอุจจาระ อาจหมายถึงมีปานแดงที่ลำไส้
    • ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain) ผู้ที่มีปานแดงชนิดนี้สามารถเกิดปัญหาสุขภาพซึ่งต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้
      • ต้อหิน ปานแดงที่ปรากฏบริเวณด้านบนและด้านล่างของเปลือกตาข้างเดียวกัน นำไปสู่การเกิดต้อหินได้
      • กลุ่มอาการสเตอร์จเวเบอร์ (Sturge-Weber Syndrome) ปานแดงเส้นเลือดฝอยที่ขึ้นทั่วหน้าผากหรือหนังศีรษะและมีขนาดใหญ่มาก มักส่งผลให้มีอาการป่วยตามกลุ่มอาการนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและสมอง
      • การขยายตัวของเนื้อเยื่ออ่อน สำหรับเนื้อเยื่ออ่อนซึ่งอยู่ใต้ผิวหนังที่เกิดปานแดงเส้นเลือดฝอยมักขยายตัวใหญ่ขึ้นผิดปกติ
      • กลุ่มอาการเกี่ยวกับหลอดเลือดฝอยผิดรูป (Klippel-Trenaunay Syndrome) ผู้ที่มีปานแดงเส้นเลือดฝอยขนาดใหญ่บริเวณแขนขา อาจมีอาการป่วยแบบเดียวกับกลุ่มอาการที่หลอดเลือดฝอยผิดรูปได้
  • ภาวะแทรกซ้อนของปานดำ ผู้ที่มีปานดำชนิดปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi) หรือไฝดำนั้น อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคขึ้นอยู่กับขนาดของปาน หากปานมีขนาดใหญ่มาก ยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังมาก ผู้ที่มีปานดำชนิดนี้จึงควรหมั่นสังเกตว่าปานมีขนาด รูปร่าง หรือสีเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากปานดำมีเลือดออก บวมอักเสบ ระคายเคือง แผลเปิด รู้สึกเจ็บ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจชิ้นเนื้อและวินิจฉัยโรค

การป้องกันปาน

วิธีป้องกันปานแดงและปานดำยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจน แต่ผู้ที่มีปานสามารถดูแลและรับมือกับปานบนร่างกายของตนเองได้ ควรใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของเอสพีเอฟ 30 (SPF30) หรือมากกว่านั้น เมื่อต้องโดนแสงแดด พ่อแม่ที่มีลูกซึ่งมีปานปรากฏตามร่างกาย ควรช่วยให้เด็กยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ พ่อแม่ควรพูดคุยเปิดใจและชี้ให้เห็นว่าปานที่เกิดขึ้นนั้นคือส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม หรือพยายามตอบคำถามเกี่ยวกับปานที่ปรากฏให้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล พ่อแม่และบุคคลรอบข้างควรช่วยให้เด็กอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองต่อไปได้