Illness name: ผื่น

Description:

ผื่น

ความหมาย ผื่น

Share:

ผื่น คืออาการทางผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะบวมและระคายเคืองเป็นบริเวณกว้าง ผื่นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ผู้ที่มีอาการมักหายเองได้ แต่ในบางกรณีอาจต้องรักษาด้วยยาหรือวิธีทางการแพทย์อื่น ๆ ร่วมกับการดูแลรักษาด้วยตัวเอง

อาการของผื่น

อาการผื่นส่วนใหญ่ไม่รุนแรงมากนัก โดยอาจมีอาการผิดปกติบริเวณผิวหนังส่วนต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัด คือ

  • ผิวหนังบวมแดง มีลักษณะเป็นปื้น
  • มีอาการระคายเคือง คัน เจ็บ หรือปวดแสบปวดร้อน
  • มีตุ่มน้ำใส ๆ เกิดขึ้น
  • ผิวลอก
  • เป็นแผลพุพอง

นอกจากนี้ อาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดตามข้อ เจ็บคอ มีรอยแดง หรือผิวหนังบริเวณรอบผื่นมีลักษณะแข็งผิดปกติ ทั้งนี้ หากมีอาการที่เป็นสัญญาณอันตราย ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่

  • มีอาการเจ็บปวดมากขึ้น หรือสีผิวหนังบริเวณที่มีผื่นเปลี่ยนไป
  • หายใจลำบาก
  • ใบหน้าหรือแขนขาบวม
  • รู้สึกแน่น หรือคันภายในลำคอผิดปกติ
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการสับสน
  • ปวดคอหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • อาเจียนหรือท้องเสียต่อเนื่อง

สาเหตุของผื่น

ผื่นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือการติดเชื้อ สาเหตุซึ่งพบได้บ่อยที่สุด คือ

โรคผื่นแพ้สัมผัส เกิดจากผิวหนังสัมผัสกับสารกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองโดยตรง  มักมีสาเหตุมาจาก

  • ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สบู่ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้า
  • สีย้อมผ้า
  • ผลิตภัณฑ์จากยาง เช่น ถุงมือยาง น้ำยาง หรือยางยืด
  • พืชที่มีพิษ

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกหลายประการที่ก่อให้เกิดผื่นผิวหนังได้ ดังนี้

  • การใช้ยา ยาบางชนิดอาจส่งผลให้มีผิื่นขึ้นบนผิวหนังบริเวณต่าง ๆ โดยอาจเกิดจากการแพ้ยา ผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือเป็นผลกระทบทางอ้อม เช่น ยาทำให้ผิวหนังแพ้แสงและส่งผลให้เกิดผื่นตามมา
  • ลมพิษ เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยมีลักษณะเป็นตุ่มแดงนูนและคันบริเวณผิวหนังส่วนต่าง ๆ แต่จะหายได้เอง
  • ผดร้อน เป็นอาการผื่นที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับอากาศร้อนชื้นและอบอ้าว ผื่นชนิดนี้มีสาเหตุจากการอุดตันของท่อเหงื่อ ทำให้ผิวหนังระบายความร้อนได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • แมลงสัตว์กัดต่อย โดยเฉพาะตัวเห็บ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดผื่นแล้วยังเป็นพาหะส่งผ่านโรคได้
  • โรคผื่นผิวหนังอักเสบ หรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักพบในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด โดยจะก่อให้เกิดผื่นแดง คัน และมีผิวลอกร่วมด้วย
  • ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบจากการคั่งของเลือด เกิดจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี ส่วนใหญ่พบบริเวณขา
  • โรคสะเก็ดเงิน หนึ่งในโรคผิวหนังที่ก่อให้เกิดอาการคัน ผิวลอก และมีผื่นแดง โดยมักเกิดขึ้นบริเวณหนังศีรษะ ข้อศอก และข้อต่อต่าง ๆ
  • โรคต่อมไขมันอักเสบ เป็นโรคพบได้บ่อยบริเวณหนังศีรษะ แต่อาจพบบริเวณอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น หู ปาก หรือจมูก นอกจากมีผื่นขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการหนังศีรษะแดง ลอก หรือมีรังแคร่วมด้วย
  • โรคภูมิแพ้ตัวเอง คือความผิิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดผื่นได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณแก้มและจมูก หรือผิวหนังส่วนที่ถูกแสงแดดบ่อย ๆ
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อีกหนึ่งความผิิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ก่อให้เกิดผื่นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายได้

ทั้งนี้ ผื่นที่เกิดขึ้นกับเด็กอาจมีสาเหตุที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น

  • ผื่นผ้าอ้อม เป็นผลจากการใส่ผ้าอ้อมที่เปื้อนปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเวลานาน หรืออาจเกิดจากสารบางชนิดในผ้าอ้อม ทำให้เกิดการระคายเคือง
  • โรคอีสุกอีใส ก่อให้เกิดผื่นแดงและตุ่มน้ำใส ๆ ทั่วร่างกาย
  • โรคหัด โรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง ส่งผลให้เกิดผื่นคันและตุ่มแดงทั่วร่างกาย
  • ไข้อีดำอีแดง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) ทำให้เกิดผื่นแดงเป็นปื้น ลักษณะหยาบคล้ายกระดาษทรายบนผิวหนังได้
  • โรคมือเท้าปาก เป็นอาการติดเชื้อไวรัสที่พบในเด็ก ก่อให้เกิดผื่นบริเวณมือและเท้า รวมทั้งมีแผลภายในช่องปาก
  • โรคฟิฟธ์ (Fifth Disease) โรคติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดผื่นเป็นปื้นแดงบริเวณแก้ม ต้นแขน และขา
  • โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) เป็นโรคที่พบได้น้อยแต่อาการค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้เกิดผื่นและมีไข้ นอกจากนี้ หากอาการรุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนอย่างหลอดเลือดหัวใจโป่งพองได้ด้วย
  • โรคแผลพุพอง คือโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะทำให้มีผื่นแดงตกสะเก็ด และเป็นหนองบริเวณใบหน้า ลำคอ และมือ

การวินิจฉัยผื่น

ส่วนใหญ่อาการผื่นนั้นไม่จำเป็นต้องรักษาหรือไปพบแพทย์ เพราะจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรงหรือไม่มีท่าทีว่าจะทุเลาลง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างละเอียด

การวินิจฉัยในขั้นต้น แพทย์จะเริ่มจากตรวจร่างกายและซักข้อมูลต่าง ๆ เช่น ลักษณะอาการ ประวัติการเจ็บป่วย อาหารที่รับประทาน ผลิตภัณฑ์หรือยาที่ใช้อยู่ รวมทั้งการรักษาความสะอาดของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์อาจสั่งตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย
  • การตรวจปฏิกิริยาภูมิแพ้
  • การตรวจวัดความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

ในบางกรณี แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นผื่นส่งตรวจด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ร่วมด้วย หากสาเหตุการเกิดผื่นเกี่ยวข้องกับปัญหาผิวหนัง ผู้ป่วยอาจถูกส่งตัวไปรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังต่อไป หรือกรณีที่ได้รับผลตรวจและระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจนแล้ว แพทย์จะวางแผนรักษาหรือสั่งยาช่วยบรรเทาอาการ ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีอาการดีขึ้น หลังจากใช้ยาควบคู่กับการดูแลรักษาด้วยตนเองที่บ้าน

การรักษาผื่น

ผื่นที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและอาจไม่จำเป็นต้องรักษา อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตอาการอย่างน้อย 1-2 วัน หากไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ โดยวิธีบรรเทาอาการผื่นด้วยตนเองเบื้องต้น ทำได้ดังนี้

  • ใช้น้ำยาทำความสะอาดชนิดอ่อนโยนเช็ดล้างผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นแทนการใช้สบู่ที่มีกลิ่นหอม
  • หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางหรือโลชั่นที่ไม่เคยใช้มาก่อน เพราะอาจยิ่งกระตุ้นให้เกิดผื่น
  • อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น และควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำที่ร้อนเกินไป
  • หากบริเวณที่เป็นผื่นเปียกน้ำ ควรใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง และไม่ควรเช็ดหรือถู เพราะอาจทำให้ยิ่งระคายเคือง
  • ทาครีมที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดผื่น
  • หลีกเลี่ยงการปกปิดผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่น เพื่อให้เกิดการถ่ายเทอากาศได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการเกา เพราะจะยิ่งทำให้ระคายเคืองมากขึ้น และอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้
  • หากมีผื่นร่วมกับรังแคบนหนังศีรษะ อาจสระผมด้วยยาสระผมที่มีคุณสมบัติในการกำจัดรังแคได้ตามปกติ หรือใช้แชมพูที่มีตัวยารุนแรงขึ้น หาซื้อได้ตามร้านขายยา

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจใช้ยาตามร้านขายยาทั่วไปช่วยบรรเทาอาการคันและระคายเคืองได้ เช่น

  • ครีมแก้คัน โดยจะช่วยบรรเทาอาการคันที่มีส่วนประกอบของตัวยาไฮโดรคอร์ติโซน
  • เจลหรือสเปรย์ว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นบริเวณผิวหนังที่เกิดผื่น และอาจบรรเทาอาการคัน โดยควรเลือกใช้เจลว่านหางจระเข้แบบ Aloe Vera 100%  ไม่ผสมน้ำหอมหรือสารอื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพ้และระคายเคืองที่อาจเป็นผลข้างเคียงตามมา ส่วนสเปรย์ว่านหางจระเข้ อาจช่วยให้อาการคัน ระคายเคืองบรรเทาได้เร็วขึ้น เพราะ ไม่ต้องสัมผัสกับผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการโดยตรง   
  • ยาแก้แพ้ เช่น ดีเฟนไฮดรามีน หรือไฮโดรซีซีน ซึ่งจะช่วยควบคุมอาการแพ้และบรรเทาอาการคัน
  • โลชั่นบำรุงผิว เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดผื่น
  • ยารักษาการติดเชื้อรา เช่น โคลไทรมาโซล มิโคนาโซล หรือเทอร์บินาฟีน

หากใช้ยาและดูแลตัวเองตามวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือผื่นแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ มากขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังอาการด้วยการหมั่นสังเกตความผิดปกติของผื่นและอาการอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ

ภาวะแทรกซ้อนของผื่น

แม้ว่าผื่นที่เกิดขึ้นโดยมากจะไม่เป็นอันตราย แต่หากดูแลรักษาผิดวิธีอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด คือการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง จนอาจกลายเป็นการอักเสบ นอกจากนี้ หากเป็นผื่นที่มีสาเหตุจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หากไม่รีบรักษาอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย และในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกันผื่น

ผื่นป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ โดยหากผื่นเกิดจากอาการแพ้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อความระคายเคืองนั้น ๆ  แต่หากเผลอสัมผัสควรรีบล้างทำความสะอาดผิวหนังบริเวณดังกล่าวโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ หากต้องสัมผัสสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ควรสวมใส่เสื้อผ้าและถุงมือให้มิดชิด หรือใช้เจลปิโตรเลียมทาป้องกันผิวหนังและรีบล้างด้วยน้ำเปล่าและสบู่อ่อน ๆ รวมทั้งหมั่นทาครีมบำรุงให้ผิวชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการระคายเคือง

ทั้งนี้ ผื่นที่เกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ อาจป้องกันไม่ได้ จึงควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากภายนอกที่อาจเกิดขึ้นได้