Illness name: อ้วน

Description:

อ้วน
  • ความหมาย
  • อาการของภาวะอ้วน
  • สาเหตุของภาวะอ้วน
  • การวินิจฉัยภาวะอ้วน
  • การรักษาภาวะอ้วน
  • ภาวะแทรกซ้อนของภาวะอ้วน
  • การป้องกันภาวะอ้วน

ความหมาย อ้วน

Share:

อ้วน (Obesity) เป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากผิดปกติหรือมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกไป ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ทำกิจกรรมต่าง ๆ ยากลำบากขึ้น สูญเสียความมั่นใจ ไปจนถึงโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามหลังจากภาวะอ้วนได้

เกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้กำหนดภาวะอ้วนคือ การคำนวณหาค่าดัชนีมวลกายหรือค่า BMI โดยผู้ที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปจะถูกจัดว่ามีภาวะอ้วน อย่างไรก็ตาม ค่าที่ได้จาก BMI เป็นค่าโดยประมาณในการอ้างถึงมวลไขมัน แต่ไม่ได้เป็นค่าที่วัดมวลไขมันได้โดยตรง ในบางรายที่มีน้ำหนักตัวมากอาจไม่ได้มาจากไขมันที่สะสมเสมอไป แต่เป็นกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา

นอกจากนี้ อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ตรวจหาภาวะอ้วนคือการตรวจวัดรอบเอว โดยผู้ชายที่มีรอบเอวเกินกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงที่มีรอบเอวเกินกว่า 80 เซนติเมตร จะจัดว่าเป็นภาวะอ้วน ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรศึกษาหาข้อมูลในการดูแลสุขภาพของตนเอง หรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนัก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงขึ้นในอนาคต 

อาการของภาวะอ้วน

ภาวะอ้วนมักส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น เหนื่อยง่าย ร้อนง่าย เหงื่อออกง่าย หายใจติดขัด นอนกรน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ยากลำบาก หรือเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงตามมา นอกจากนี้ รูปลักษณ์ภายนอกอาจทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง นำไปสู่การเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น การเข้าสังคม ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิตอย่างภาวะซึมเศร้าตามมาด้วย

สาเหตุของภาวะอ้วน

ภาวะอ้วนสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภค พฤติกรรมการใช้ชีวิต กรรมพันธุ์ อายุ ปัจจัยทางการแพทย์ที่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะอ้วน รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อย่างสภาพแวดล้อม หรือสถานภาพทางเศรษฐกิจด้วย

การวินิจฉัยภาวะอ้วน

การตรวจหาภาวะอ้วนทำได้ด้วยการหาค่า BMI และการตรวจวัดรอบเอว หากไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ซักประวัติสุขภาพ สอบถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด ประวัติสุขภาพของครอบครัว ความรู้สึกที่มีต่อภาวะอ้วน และปัญหาที่กำลังเผชิญจากภาวะอ้วน

นอกจากนี้ อาจมีการตรวจเพิ่มเติมหากผู้ป่วยเข้าข่ายภาวะอ้วน ได้แก่ การตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจหาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เพื่อให้ทราบถึงความผิดปกติ และนำไปสู่การวางแผนการรักษาต่อไป

การรักษาภาวะอ้วน

เป้าหมายในการรักษาภาวะอ้วนคือ เพื่อให้ผู้ที่มีภาวะอ้วนกลับมามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่ดี ในเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง การควบคุมอาหาร ควบคุมพฤติกรรมการบริโภค รวมถึงการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ

ส่วนการรักษาทางการแพทย์ แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไป เช่น รับประทานยาลดน้ำหนักภายใต้การดูแลของแพทย์ควบคู่ไปกับการดูแลตนเอง หรืออาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีอาการดีขึ้น ก่อนที่จะรักษาในขั้นต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะอ้วน

ภาวะอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ปัญหาในระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดตามกระดูกข้อต่อ ปวดหลัง ข้อเสื่อม เกิดนิ่วในถุงน้ำดี โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งต่าง ๆ ไปจนถึงการเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงและเรื้อรังมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ภาวะอ้วนอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น ขาดความมั่นใจในตนเอง เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว เก็บตัว แยกตัว เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ การเข้าสังคม การเรียน การทำงาน หรืออาจนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าได้

การป้องกันภาวะอ้วน
ภาวะอ้วนที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมอาหารและควบคุมพฤติกรรมการบริโภค เช่น รับประทานผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มีไขมันสูงหรือมีน้ำตาลมาก ดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือน้ำอัดลม ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รวมถึงชั่งน้ำหนักอยู่เสมอเพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

อาการของภาวะ อ้วน