Illness name: ภาวะแทรกซ้อนของเอดส์

Description:

เอดส์
  • ความหมาย
  • อาการของเอดส์
  • สาเหตุของเอดส์
  • การวินิจฉัยเอดส์
  • การรักษาเอดส์
  • ภาวะแทรกซ้อนของเอดส์
  • การป้องกันเอดส์

ภาวะแทรกซ้อนของ เอดส์

Share:

เอดส์เป็นภาวะขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยเอดส์จะถูกทำลายเสียหายจนไม่สามารถต้านทานต่อโรคและการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเกิดภาวะแทรกซ้อนของเอดส์ได้ง่าย และบางโรคบางอาการป่วยที่รุนแรงอาจเป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เช่น

  • วัณโรค ผู้ป่วยเอดส์มีโอกาสป่วยด้วยวัณโรค ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการไอจามอย่างเรื้อรัง แล้วเชื้ออาจลามไปยังปอด หรือทำให้อวัยวะอื่น ๆ เกิดความเสียหาย และเสี่ยงต่อการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
  • โรคคริปโตค็อกคัสในระบบประสาท เป็นการติดเชื้อราที่ทำให้เยื่อหุ้มบริเวณสมองและไขสันหลังเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง
  • ภาวะปอดอักเสบจากเชื้อรา สามารถทำให้ปอดเกิดการบวมอักเสบอย่างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิต
  • อุจจาระร่วงจากโปรโตซัว โปรโตซัวเป็นปรสิตเซลล์เดียวที่รบกวนระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงได้
  • เริม โรคผิวหนังที่เกิดการอักเสบบริเวณปากหรืออวัยวะเพศจากการติดเชื้อไวรัส อาจเกิดแผลอักเสบรุนแรงขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันที่บกพร่องในภาวะเอดส์
  • การติดเชื้อราและเกิดแผลอักเสบที่บริเวณปาก ภายในลำคอ หรือในช่องคลอด
  • การติดเชื้อฉวยโอกาสจากแบคทีเรีย ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ มีปัญหาในระบบย่อยอาหาร และน้ำหนักตัวลด
  • การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส ทำให้มีอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับดวงตาจนอาจนำไปสู่การตาบอด เกิดแผลเป็นหนองอักเสบ และอาการท้องร่วงรุนแรงได้ด้วย
  • โรคมะเร็ง เช่นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อเอชไอวี จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งลามไปทั่วต่อมน้ำเหลือง ทั้งบริเวณลำคอ รักแร้ หรือตามข้อพับต่าง ๆ นอกจากนี้ ในบางรายอาจเป็นมะเร็งหลอดเลือดคาโปซี ที่เกิดเซลล์เนื้อร้ายก่อตัวขึ้นในเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือด เกิดเป็นบาดแผลสีแดง หรือสีม่วงตามผิวหนัง

ภาวะแทรกซ้อนในระบบประสาท ถึงแม้บางครั้งเอดส์จะไม่ได้สร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อสมองและระบบประสาทโดยตรง แต่จากอาการป่วยและติดเชื้อที่อวัยวะเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อระบบประสาทได้ รวมถึงอาจมีรูปแบบพฤติกรรมและการแสดงออกทางจิตใจที่เปลี่ยนไปได้ด้วย ทำให้มีอาการแสดงทางประสาทออกมา เช่น อาการสับสนมึนงง หลงลืม ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือเกิดความยากลำบากในการเคลื่อนที่ง่าย ๆ เช่น การเดิน เป็นต้น

โรคหรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้ และค่อนข้างเป็นอันตราย ได้แก่

  • ติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดหรือเป็นแล้วกลับมาป่วยอีกซ้ำ ๆ
  • เชื้อราในหลอดลมหรือในปอด
  • เชื้อราในหลอดอาหาร
  • มะเร็งปากมดลูกหรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง
  • โรคค็อกสิดิออยโดไมโคสิส (Coccidioidomycosis) ที่เกิดจากเชื้อรา Coccidioides Immitis ที่แพร่กระจายไปตามเนื้อเยื่ออวัยวะหรือบริเวณภายนอกปอด
  • โรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis) เกิดจากเชื้อรา Cryptococcus Neoformans ที่อยู่นอกปอด
  • โรคคริพโตสปอริดิโอซิส (Cryptosporidiosis) มีอาการป่วยเรื้อรังที่ลำไส้นานกว่า 1 เดือน
  • โรคติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus Disease) เช่น ที่ตับ ม้าม หรือต่อมต่าง ๆ นานกว่า 1 เดือน
  • จอตาอักเสบจากไซโตเมกกาโลไวรัส (Cytomegalovirus Retinitis) ที่อาจทำให้ตาบอดได้
  • โรคทางสมองที่มีสาเหตุมาจากตับวายซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HIV
  • โรคเริม มีแผลหนองอักเสบเรื้อรังนานกว่า 1 เดือน โรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หรือหลอดอาหารอักเสบนานกว่า 1 เดือน
  • โรคฮีสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis) ที่เกิดจากเชื้อราฮีสโตพลาสมา ที่แพร่กระจายไปตามเนื้อเยื่ออวัยวะหรือบริเวณภายนอกปอด
  • โรคไอโซสปอริเอสิส (Isosporiasis) มีอาการเกี่ยวกับลำไส้ เช่น อุจจาระร่วงเรื้อรังนานกว่า 1 เดือน
  • โรคมะเร็งคาโปซิ ที่มีผลต่อหลอดเลือด
  • ปอดบวมชนิด Lymphoid Interstitial Pneumonia หรือ Pulmonary Lymphoid Hyperplasia Complex
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดเบอร์กิต (Burkitt)
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Immunoblastic
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขั้นปฐมภูมิที่สมอง
  • โรคติดเชื้อฉวยโอกาสจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Mycobacterium Avium Complex (MAC) หรือ Mycobacterium Kansasii ที่แพร่กระจายไปตามเนื้อเยื่ออวัยวะหรือบริเวณภายนอกปอด
  • วัณโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปอด ที่แพร่กระจายไปตามเนื้อเยื่ออวัยวะ หรือบริเวณภายนอกปอด
  • การติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียสายพันธุ์อื่น ๆ หรือชนิดที่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้ ที่แพร่กระจายไปตามเนื้อเยื่ออวัยวะ หรือบริเวณภายนอกปอด
  • ปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ
  • ปอดบวมเรื้อรัง เป็นแล้วกลับมาป่วยอีกซ้ำ ๆ
  • ความเสียหายในสมองและประสาทส่วนกลางจากการติดเชื้อ (Progressive Multifocal Leukoencephalopathy: PML)
  • การติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาในกระแสเลือด (Salmonella Septicemia) ที่เป็นแล้วกลับมาป่วยอีกซ้ำ ๆ
  • โรคท็อกโซพลาสโมสิสบริเวณสมองจากโปรโตซัว (Toxoplasmosis) นานกว่า 1 เดือน
  • มีอาการน้ำหนักลดลงมากจนผอมแห้ง (Wasting Syndrome) ที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อเอชไอวี
การรักษา เอดส์
การป้องกัน เอดส์