Illness name: กามโรค

Description:

กามโรค

ความหมาย กามโรค

Share:

กามโรค (Venereal Disease) หรือการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infection: STI) คือโรคที่แพร่เชื้อกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทั้งการสอดใส่ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทำออรัลเซ็กส์ ซึ่งติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรค หรือสัมผัสเลือด อสุจิ เมือกในช่องคลอด และของเหลวอื่น ๆ ที่มาจากร่างกาย ทั้งนี้ กามโรคติดต่อกันได้โดยไม่ใช่จากการร่วมเพศเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการติดต่อทางสายเลือด การถ่ายเลือด การใช้เข็มหรือสิ่งของที่สัมผัสเลือด มูก หรือของเหลวของผู้ป่วยที่มีเชื้อ

อาการของกามโรค

ผู้ที่ติดเชื้อกามโรคจะแสดงอาการของโรคแตกต่างกันไปตามชนิดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ได้รับเชื้อ ซึ่งอาจปรากฏอาการของโรคที่ส่งผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์อย่างเดียว หรือส่งผลต่ออวัยวะส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย และบางรายก็อาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ เลย โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อกามโรคอาจมีอาการดังนี้

  • มีตุ่มนูนขึ้นบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ปาก หรือช่องทวารหนัก
  • เจ็บหรือแสบเมื่อปัสสาวะ
  • ผู้หญิงมีตกขาวออกมากหรือมีกลิ่นผิดปกติ ส่วนผู้ชายพบน้ำหรือหนองออกมาจากปลายองคชาต
  • รู้สึกเจ็บระหว่างสอดใส่ขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโตและทำให้รู้สึกแสบ โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ
  • เจ็บที่ท้องน้อย
  • ไข้ขึ้น ปวดเมื่อย และรู้สึกหนาวเย็น
  • ระคายเคืองผิวบริเวณอวัยวะเพศอย่างมาก และมีผื่นขึ้นตามมือ แขน และเท้า
  • น้ำหนักลด

ผู้ติดเชื้อกามโรคจะมีอาการดังกล่าวหลังจากได้รับเชื้อมาภายใน 2-3 วัน บางรายอาจใช้เวลาเป็นปีจึงจะแสดงอาการของโรค ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบการทำงานของร่างกายผู้ป่วย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อกามโรคที่ไม่แสดงอาการในทันที อาการของโรคอาจแสดงภายหลัง รวมทั้งอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงควรไปพบแพทย์ทันทีหลังได้รับเชื้อจากการร่วมเพศและเมื่อเกิดอาการของโรค

สาเหตุของกามโรค

กามโรคคือโรคที่มักติดต่อกันผ่านการร่วมเพศ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ปรสิต และไวรัส นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นช่องทางแพร่กระจายการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี โรคบิดจากเชื้อชิเกลล่า (Shigella) หรือโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไกอาร์เดีย (Giardia Intestinalis)

พฤติกรรมรักหรือชอบพอเพศเดียวกันไม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ติดเชื้อกามโรค เนื่องจากเป็นรสนิยมทางเพศที่รู้สึกสนใจชอบพอเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงลักษณะการร่วมเพศกัน  แต่ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อจากกามโรคได้ ลักษณะพฤติกรรมการร่วมเพศและพฤติกรรมอื่นที่จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ติดเชื้อกามโรค ได้แก่

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยเมื่อต้องสอดใส่ตอนร่วมเพศย่อมเสี่ยงติดเชื้อกามโรคสูง ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้องหรือไม่ใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ การทำออรัลเซ็กส์ (Oral Sex) ก็เสี่ยงติดเชื้อได้เช่นกันหากไม่ใส่ถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางป้องกันการติดเชื้อสำหรับทำออรัลเซ็กส์ (Dental Dam)
  • ร่วมเพศกับคู่นอนหลายคน ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคนมักเสี่ยงติดเชื้อกามโรค โดยผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ย่อมเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง
  • มีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ย่อมแพร่เชื้อไปยังคู่นอนของตนได้ง่าย
  • ถูกขืนใจ ผู้ที่ถูกบังคับให้ร่วมเพศหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น มีโอกาสเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ผู้ที่ถูกขืนใจควรได้รับการตรวจและรับการรักษาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
  • ร่วมเพศทางทวารหนัก ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กันทางทวารหนักและไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกันนั้น มีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • ใช้สารเสพติด ผู้ที่ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่นเสี่ยงติดเชื้อจากโรคทางเพศสัมพันธ์หลายโรค ได้แก่ เชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้สารเสพติดมักมีพฤติกรรมเสี่ยงซึ่งนำไปสู่การติดต่อกามโรค

นอกจากนี้ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรค เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เชื้อเอชไอวี หรือซิฟิลิสสามารถติดต่อระหว่างตั้งครรภ์ได้ในกรณีที่ผู้เป็นแม่ป่วยหรือได้รับเชื้อกามโรคมาก่อน ทารกที่ติดเชื้อจากโรคดังกล่าวเสี่ยงเสียชีวิตได้ สตรีมีครรภ์จึงควรได้รับการตรวจเชื้อเมื่อตั้งครรภ์เพื่อรับการรักษา

การวินิจฉัยกามโรค

การตรวจกามโรคจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคใด โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการป่วยหรือได้รับเชื้อกามโรค  และยังช่วยระบุสาเหตุการติดเชื้อที่เกิดขึ้นได้ โดยแพทย์อาจเจาะเลือด เก็บตัวอย่างปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งเพื่อนำไปตรวจในห้องทดลอง ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการของโรคก็อาจต้องได้รับการตรวจคัดกรองด้วย ซึ่งบุคคลต่อไปนี้อาจเข้ารับการตรวจเพื่อคัดกรองการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทุกราย สามารถเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี
  • สตรีมีครรภ์ต้องได้รับการตรวจเพื่อคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส ซึ่งการตรวจคัดกรองโรคเหล่านี้ แพทย์มักตรวจในการฝากครรภ์ครั้งแรก นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ที่เสี่ยงติดเชื้อสูงอาจต้องได้รับการตรวจหนองในแท้และไวรัสตับอักเสบซีระหว่างตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 ครั้ง
  • ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์หรืออายุ 21 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน ซึ่งจะช่วยตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับปากมดลูกอย่างโรคมะเร็งหรือการติดเชื้ออันทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ
  • ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ควรได้รับการตรวจหนองในเทียม โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพื่อนำไปตรวจ
  • ผู้ชายที่ร่วมเพศกับเพศเดียวกันเสี่ยงติดเชื้อกามโรคได้สูงกว่ากลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์รูปแบบอื่น จึงควรได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส หนองในเทียม และหนองในแท้ โดยอาจตรวจปีละครั้งหรือมากกว่านั้น นอกจากนี้ อาจต้องตรวจไวรัสตับอักเสบบีด้วย
  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นได้สูง หากได้รับการวินิจฉัยว่าได้รับเชื้อเอชไอวี แพทย์อาจต้องตรวจหาซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม และโรคเริมด้วย รวมทั้งตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ส่วนผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีมักเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก จึงควรตรวจภายในหลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อกามโรคทั้งคู่ก่อนมีเพศสัมพันธ์กัน

การรักษากามโรค

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่ละโรคมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปแล้ว โรคเหล่านี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นรักษาให้หายได้ง่ายกว่า ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทำได้โดยดูแลอาการไม่ให้กำเริบได้ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด และสตรีมีครรภ์ที่ได้รับเชื้อกามโรค ต้องได้รับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันหรือลดโอกาสเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะได้รับเชื้อ วิธีดูแลและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประกอบด้วยการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส และการฉีดวัคซีน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิตนั้นรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส  และเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะต้องได้รับการรักษาจนครบกำหนด นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาจนครบกำหนดและแผลหายดี
  • ยาต้านไวรัส ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเริมควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส แต่อาจทำให้คู่นอนของผู้ป่วยติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสยังใช้รักษาผู้ป่วยเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้แม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่ำก็ตาม ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง จะช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลงจนตรวจหาแทบไม่พบ

ภาวะแทรกซ้อนจากกามโรค

ผู้ที่ได้รับเชื้อกามโรคซึ่งอยู่ในระยะแรก ควรได้รับการตรวจโรคเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ดังนี้

  • ปวดท้องน้อย
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนในสตรีมีครรภ์
  • ทารกติดเชื้อที่ดวงตา
  • เกิดอาการข้ออักเสบ
  • เกิดการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน
  • เกิดภาวะมีบุตรยาก
  • ป่วยเป็นโรคหัวใจ
  • ป่วยเป็นโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งตับจากไวรัสตับเสบบีและซี เป็นต้น

การป้องกันกามโรค

วิธีป้องกันกามโรคนั้นทำได้โดยเริ่มจากการป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น วิธีป้องกันกามโรคมีดังนี้

  • การป้องกันการติดเชื้อ ผู้คนทั่วไปสามารถเลี่ยงหรือลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยปฏิบัติ ดังนี้
    • ยึดมั่นในคู่ครองเพียงคนเดียว ถือเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ติดเชื้อกามโรค ทั้งนี้ อีกฝ่ายต้องไม่เคยได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • ควรเลี่ยงการสอดใส่ ทั้งนี้ ตนเองและคู่นอนควรเข้ารับการตรวจการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างละเอียดก่อน
    • เมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์และสอดใส่ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทำออรัลเซ็กส์ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่ใช้ถุงยางอนามัยซ้ำ รวมทั้งไม่ใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ ร่วมกับถุงยางอนามัย เนื่องจากจะทำให้ถุงยางอนามัยขาดได้
    • ควรตกลงกับคู่นอนก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งเกี่ยวกับสิ่งที่ทำได้และไม่ได้เมื่อร่วมเพศกัน เพื่อความปลอดภัยของทั้ง 2 ฝ่าย
    • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือใช้สารเสพติด เนื่องจากจะทำให้ขาดสติ และทำพฤติกรรมที่เสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
    • ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยให้สังเกตอาการของโรคและป้องกันตัวเองได้อย่างปลอดภัยและถูกวิธี
  • วิธีดูแลและป้องกันการแพร่เชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อกามโรคมีวิธีดูแลอาการของโรคและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยปฏิบัติดังนี้
    • หยุดมีเพศสัมพันธ์และเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด
    • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หากไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ รวมทั้งคู่นอนต้องได้รับการรักษาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นอยู่จนหายก่อน
  • การฉีดวัคซีน วัคซีนที่ใช้ป้องกันกามโรคได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพประกอบด้วย วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสรักษาเชื้อเอชพีวี ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจัดอยู่ในวัคซีนฟรีสำหรับเด็กไทยทุกคนด้วย