Illness name: ดีซ่าน

Description:

ดีซ่าน

ความหมาย ดีซ่าน

Share:

ดีซ่าน (Jaundice) เป็นอาการป่วยที่เยื่อบุตาขาว เนื้อเยื่อและผิวหนังของผู้ป่วยกลายเป็นสีเหลือง เรียกอีกชื่อหนึ่งคือ “ภาวะตัวเหลืองตาเหลือง” เกิดจากการมีปริมาณสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากเกินไป มาจากหลายสาเหตุหรือจากการเจ็บป่วยอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของตับ ระบบน้ำดี และเซลล์เม็ดเลือดแดง

อาการของดีซ่าน

ลักษณะอาการแสดงหลักของภาวะดีซ่านที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ ดวงตาและผิวหนังมีสีเหลือง อุจจาระอาจมีสีซีดลง และปัสสาวะมีสีเข้ม นอกจากภาวะตัวเหลืองตาเหลืองที่ปรากฏเด่นชัด อาจพบอาการป่วยที่เกิดขึ้นร่วมกัน โดยอาจมีอาการร่วมเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่าง เช่น

  • อ่อนเพลีย หมดแรง เหนื่อยง่าย
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ท้องบวม ขาบวม น้ำหนักลด
  • มีไข้ หนาวสั่น คันตามตัว


สาเหตุของดีซ่าน

ดีซ่านเกิดจากความผิดปกติของปริมาณสารบิลิรูบินในกระแสเลือด ทำให้เห็นผิวหนังและเยื่อตาขาวเป็นสีเหลือง โดยปกติ เซลล์เม็ดเลือดแดงจะมีการสลายตัวและเกิดเซลล์ใหม่มาแทนที่ สารบิลิรูบินเป็นสารที่เกิดจากการที่เซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าสลายตัว โดยสารนี้จะถูกขับออกไปตามท่อน้ำดีและกระแสเลือด ลำเลียงไปตามอวัยวะต่าง ๆ ไปจนถึงอวัยวะที่มีหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกาย คือ ลำไส้ จึงสามารถพบความผิดปกติของสีของเสียที่ถูกขับออกจากร่างกายอย่างปัสสาวะและอุจจาระด้วย

บางกรณีที่พบภาวะดีซ่านในเด็กแรกเกิด อาจเกิดจากการพัฒนาระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายและอวัยวะที่ยังไม่เติบโตแข็งแรงเต็มที่ อาการควรจะหายไปภายในสองสัปดาห์ในทารกที่คลอดครบกำหนด หากพบว่ามีอาการนานเกินไปหรือหากมีอาการที่น่าสงสัยของโรคอื่นร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที

ภาวะดีซ่าน แบ่งตามตำแหน่งของการเกิด ดังนี้

  • ดีซ่านที่เกิดก่อนเข้าสู่ตับ: เกิดภาวะดีซ่านก่อนสารบิลิรูบินจะถูกลำเลียงตามกระแสเลือดไปที่ตับ เช่น เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างโรคไข้จับสั่นหรือมาลาเรีย โรคโลหิตจางชนิดต่าง ๆ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางเม็ดเลือดแดงแตกง่าย
  • ดีซ่านที่เกิดภายในตับ: เกิดภาวะดีซ่านภายในตับ เกิดจากความผิดปกติหรือความเสียหายภายในตับ เช่น โรคตับแข็ง มะเร็งตับ หรือป่วยเป็น Gilbert’s Syndrome ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้ตับไม่สามารถสังเคราะห์บิลิรูบินแล้วขับออกไปได้ตามปกติ
  • ดีซ่านที่เกิดหลังออกจากตับ: เกิดภาวะดีซ่านเนื่องจากไม่สามารถลำเลียงสารบิลิรูบินไปสู่ลำไส้ได้ เช่น เกิดจากการมีนิ่วหรือเนื้องอกในอวัยวะลำเลียงที่เกี่ยวข้อง มะเร็งตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบ

การวินิจฉัยดีซ่าน

นอกจากการสังเกตจากอาการภายนอกแล้ว สามารถตรวจหาภาวะดีซ่านได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ตรวจเลือด ตรวจการทำงานของตับด้วยการตรวจเลือด เป็นการวัดระดับเอนไซม์และโปรตีนในเลือด ตับที่ถูกทำลายและมีความเสียหายจะปล่อยเอนไซม์เข้าสู่กระแสเลือด และระดับโปรตีนในเลือดก็จะลดลง วิธีการนี้สามารถตรวจหาโรคไข้จับสั่น (มาลาเรีย) โรคตับแข็ง ตับอักเสบ และตับที่ถูกทำลายจากการดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจปัสสาวะ ตรวจปัสสาวะเพื่อวัดระดับสารยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรบกวนการทำงานตามสภาวะปกติของสารบิลิรูบินในระบบย่อยอาหาร ปริมาณสารที่มากเกินไปแสดงถึงภาวะดีซ่านที่เกิดก่อนเข้าสู่ตับและเกิดขึ้นภายในตับ ส่วนปริมาณสารที่ปกติหรือน้อยเกินไปแสดงถึงภาวะดีซ่านที่เกิดหลังออกจากตับ และวัดสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งจะพบในปัสสาวะผู้ป่วยที่เป็นดีซ่านเท่านั้น
  • การฉายภาพรังสี เป็นการตรวจหาดีซ่านในภาวะดีซ่านที่สงสัยว่า สาเหตุเกิดจากตับ หรือมีการอุดกั้นของทางเดินน้ำดี ซึ่งจะเห็นภาพความผิดปกติภายในตับหรือในระบบน้ำดีผ่านการฉายภาพรังสี วิธีการฉายภาพรังสีที่นำมาใช้ ได้แก่ การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound scan) การถ่ายภาพรังสีด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI scan)
  • ตรวจชิ้นเนื้อตับ การตรวจชิ้นเนื้อเป็นวิธีการที่ถูกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่น่าจะเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ โดยการใช้เข็มเจาะเอาชิ้นเนื้อในตับไปตรวจในห้องแล็บด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ตับ
  • การส่องกล้องผ่านทางปากเพื่อตรวจบริเวณท่อน้ำดี (ERCP) เป็นการตรวจท่อน้ำดีของตับโดยการฉีดสีและเอ็กซเรย์ผ่านกล้อง

การรักษาดีซ่าน

การรักษาภาวะดีซ่าน มักจะรักษาตามโรคที่เป็นสาเหตุ บรรเทาอาการและคอยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือภาวะอื่นแทรกซ้อน โดยพิจารณาตามชนิดที่เป็นลักษณะการเกิด คือ ดีซ่านที่เกิดก่อนเข้าสู่ตับ ดีซ่านที่เกิดภายในตับ และดีซ่านที่เกิดหลังออกจากตับ

  • ดีซ่านที่เกิดก่อนเข้าสู่ตับ เน้นป้องกันไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวมากและเร็วเกินไป เพื่อลดปริมาณการเกิดสารบิลิรูบินในกระแสเลือด อาจต้องให้ผู้ป่วยเติมเลือดในกรณีที่เป็นโรคเกี่ยวกับเซลล์เม็ดเลือดอย่างธาลัสซีเมียหรือโลหิตจาง และต้องให้ยารักษาแก่ผู้ป่วยที่เลือดมีภาวะติดเชื้อ เช่น ผู้ป่วยโรคมาลาเรีย
  • ดีซ่านที่เกิดภายในตับ เน้นการรักษาฟื้นฟูเซลล์ตับที่ถูกทำลายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตับในอนาคต ในรายที่ป่วยจากตับติดเชื้อ เช่น ไวรัสตับอักเสบ หรือมีพยาธิใบไม้ในตับ ต้องรักษาด้วยการใช้ยา ส่วนในรายที่พบว่าตับเสียหายอย่างรุนแรง อาจรักษาได้ด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ยากลำบาก ทั้งในขั้นตอนการผ่าตัดและในการหาตับที่เหมาะสมให้เข้ากับร่างกายของผู้ป่วย ส่วนสาเหตุอื่นที่ส่งผลต่อตับอย่างการดื่มแอลกอฮอล์ สามารถรักษาและป้องกันได้ด้วยการลดปริมาณการดื่ม หรืองดเว้นไปหากเลิกดื่มได้
  • ดีซ่านที่เกิดหลังออกจากตับ มักรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแก้ไขระบบทางเดินน้ำดี ถุงน้ำดีและบริเวณตับอ่อน เพื่อแก้ปัญหาการอุดตันของท่อน้ำดี

ภาวะแทรกซ้อนของดีซ่าน

อาการดีซ่านเป็นอาการแสดงของหลาย ๆ โรค เพราะดีซ่านเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะและเซลล์เม็ดเลือดแดง โรคที่มักพบร่วมกับภาวะดีซ่าน ได้แก่ โรคโลหิตจาง การติดเชื้อในตับหรือระบบทางเดินน้ำดี ตับอักเสบ ตับแข็ง ซึ่งโรคเหล่านี้ทำให้เกิดการเจ็บป่วยอย่างการปวดท้องรุนแรง ท้องร่วง พบภาวะเลือดออกที่ผิดปกติ หรืออาจมีภาวะอวัยวะทำงานล้มเหลวเป็นเหตุให้เสียชีวิตในรายที่ป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรง อย่างโรคธาลัสซีเมีย หรือมะเร็งตับ

นอกจากนี้ ในทารกแรกเกิด สารบิลิรูบินเป็นอันตรายต่อเซลล์สมอง หากมีสารบิลิรูบินปริมาณมากผ่านเข้าสู่เซลล์สมอง อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคและกลุ่มอาการทางสมองด้วย เช่น เคอนิคเทรัส (Kernicterus) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนทางสมองที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อสมองถูกทำลายอย่างถาวร กระทบต่อประสาทการฟัง เป็นผลให้สูญเสียการได้ยินหรือระบบการได้ยินผิดปกติ และอาจกระทบทำให้มีระดับสติปัญญาลดลง

การป้องกันดีซ่าน

แม้ไม่มีวิธีการที่เฉพาะเจาะจงในการป้องกันการเกิดภาวะดีซ่าน แต่การป้องกันควรครอบคลุมหลายสาเหตุที่อาจเป็นที่มาของภาวะดีซ่าน คือ เน้นไปที่การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการทำงานผิดปกติและการติดเชื้อในตับ เซลล์เม็ดเลือดแดงและระบบน้ำดี

การดูแลสุขภาพเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกันโรค ประกอบด้วย

  • การกินอยู่อย่างถูกสุขอนามัย ไม่กินอาหารดิบ เช่น ปลาน้ำจืดดิบ เนื่องจากเป็นสาเหตุของพยาธิใบไม้ในตับ และนำไปสู่มะเร็งทางเดินน้ำดีได้
  • รักษาความสะอาด
  • ลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ชา การสูบบุหรี่หรือยาสูบอื่น ๆ และไม่ใช้ยาเสพติด
  • ควบคุมน้ำหนักตัวและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในทางเดินน้ำดี
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และบี ที่ควรได้รับการฉีดหากมีความเสี่ยง ทั้งนี้ควรสอบถามแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียต่อไป
  • บริหารจัดการความเครียด หลีกเลี่ยงความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ด้วย