Illness name: อาการปวดหัว
Description: อาการปวดหัวหรือปวดบริเวณศีรษะมีอยู่หลายลักษณะ เช่น ปวดตลอดเวลา ปวดเป็นพัก ๆ ปวดตุบ ๆ ปวดแปล๊บ ปวดรุนแรง หรือปวดเล็กน้อย แตกต่างกันออกไปตามสาเหตุ ความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะแต่ละชนิดก็อาจไม่เหมือนกัน ส่วนตำแหน่งที่ปวดอาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้า กะโหลกศีรษะ หรือทั้งศีรษะก็อาจเป็นไปได้ในบางราย ปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวหรือปวดหัวจากความเครียด (Tension-Type Headaches) อาการปวดชนิดนี้เกิดขึ้นบ่อยมากที่สุด โดยปวดหัวทั้งสองข้าง ค่อนไปทางด้านหน้าและด้านบนของศีรษะ คล้ายโดนบีบรัดบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยมักปวดตลอดวัน เป็น ๆ หาย ๆ ความรุนแรงของอาการปวดที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันในแต่ละครั้ง อาการปวดอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 30 นาทีไปจนถึงหลายวัน เมื่อมีอาการปวดจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ หรืออาการอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อบริเวณด้านหลังคอหรือบริเวณหนังศีรษะเกิดการเกร็งตัว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดขึ้นอาการปวดได้ง่าย เช่น ความเหนื่อย ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนผิดท่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน ซึ่งอาการปวดชนิดนี้พบร่วมกับอาการปวดไมเกรนได้ และเป็นอาการปวดหัวที่มักเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวัน หากอาการเกิดขึ้นน้อยกว่า 15 วันต่อเดือนจะจัดเป็นอาการปวดศีรษะจากความเครียดแบบครั้งคราว (Episodic Tension Headaches) แต่ถ้าระยะเวลาในการปวดนานมากกว่า 15 วันต่อเดือนขึ้นไป บางรายอาจมีอาการต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน จะกลายเป็นอาการปวดศีรษะจากความเครียดแบบเรื้อรัง (Chronic Tension Headaches) ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้น อาจก่อให้เกิดการเจ็บบริเวณหนังศีรษะหรือแม้กระทั่งในขณะหวีผม และอาการปวดมักคงที่สม่ำเสมอตลอดเวลา ปวดหัวไมเกรน (Migraines) ปวดหัวไมเกรนเป็นอาการปวดหัวอีกแบบที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะในลักษณะปวดข้างเดียวเป็นส่วนใหญ่ อาจเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่งไม่ซ้ำกัน แต่ก็อาจปวดได้ทั้งสองข้างเช่นเดียวกัน หากอาการปวดอยู่ในระดับปานกลางจนถึงขั้นรุนแรงอาจต้องนอนพักถึงช่วยบรรเทาอาการลงได้ อาการปวดหัวไมเกรนมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร รู้สึกหนาวหรือร้อน ปวดท้อง จะมีอาการปวดอยู่หลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 1-2 ครั้ง ซึ่งอาจจะเกิดได้ง่ายหากถูกกระตุ้นจากความเครียด ความหิว ความเหนื่อย อาหารบางชนิด ภาวะขาดน้ำ อาการปวดศีรษะประเภทอื่น แสงจ้าหรือเสียง โดยทั่วไปมักจะปวดขึ้นมาทันทีโดยไม่มีสัญญาณเตือน แต่ในบางรายอาจมีอาการนำมาก่อนเกือบชั่วโมง เช่น เห็นแสงวูบวาบ สายตาพร่ามัว พูดไม่ชัด เป็นต้น ปวดหัวคลัสเตอร์หรือปวดหัวเป็นชุด ๆ (Cluster Headaches) เป็นอาการปวดอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ บริเวณเบ้าตา หรือขมับด้านใดด้านหนึง โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดแบบตุบ ๆ เป็นชุด ๆ อยู่ประมาณ 30-90 นาทีไปจนถึง 3 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง และจะเกิดอาการปวดขึ้นใหม่ในวันและเวลาเดิมติดต่อกันนานหลายวันจนเป็นสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ จากนั้นอาการจะค่อย ๆ หายไปเองและทิ้งระยะไปเป็นปีจึงกลับมาปวดแบบเดิมใหม่อีกครั้ง อาการปวดแบบนี้มักจะทำให้ผู้ป่วยตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำตาไหล ตาแดง น้ำมูกไหล ลืมตาได้ไม่เต็มที่ อาการปวดประเภทนี้พบบ่อยในวัยรุ่นไปถึงวัยกลางคน โดยเฉพาะเพศชายที่สูบบุหรี่ ปวดหัวจากไซนัสอักเสบ (Sinus Headaches) เป็นอาการปวดอย่างต่อเนื่องตามบริเวณโหนกแก้ม หน้าผาก สันจมูก หรือบริเวณที่เกิดไซนัสขึ้น พร้อมกับมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก มีไข้ หรือใบหน้าบวม อาการปวดมักจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการก้มตัวไปข้างหน้าหรือนอนราบ ปวดหัวจากเนื้องอกในสมอง เป็นอาการปวดหัวค่อนข้างรุนแรงตลอดวัน เป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะอาการปวดตอนกลางคืนจะทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นมากลางดึก และมักจะปวดมากขึ้นเมื่อเดิน เกร็ง ไอ หรือเคลื่อนไหวร่างกาย รวมไปถึงมีอาการอื่นแสดงออกมาให้เห็น เช่น สายตาผิดปกติ มีปัญหาในการเดิน ทรงตัวไม่อยู่ ชาบริเวณแขนและขา ไม่มีสมาธิ อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด เพราะเกิดขึ้นได้จากหลายสภาวะของร่างกาย และส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอาการร้ายแรง แต่หากอาการปวดหัวส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
อาการ ปวดหัว