Illness name: หลอน

Description:

หลอน

ความหมาย หลอน

Share:

หลอน (Hallucination) เป็นอาการทางประสาทที่ทำให้เห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น รับรู้รสชาติ หรือเกิดความรู้สึก ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวมักเป็นโรคทางจิต เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน นอกจากนั้น ยังพบได้บ่อยในผู้ที่ใช้ยาบางชนิดซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียง หรือผู้ที่มีอาการถอนยาและใช้ยาเสพติด หากรู้สึกว่าตนเองมีอาการหลอนหรือพบคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อช่วยควบคุมอาการและดูแลให้อาการดีขึ้นได้ในระยะยาว

อาการหลอน

อาการหลอนอาจเกิดขึ้นกับการมองเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น รสชาติ หรือสัมผัส ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจแบ่งประเภทได้ดังนี้

  • เห็นภาพหลอน (Visual Hallucination) ผู้ป่วยอาจเห็นภาพหรือเหตุการณ์ขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง อาจเห็นเป็นวัตถุ รูปภาพ ผู้คน หรือแสง ตัวอย่างเช่น เห็นแมลงไต่อยู่ที่มือหรือใบหน้าผู้อื่น หรือเห็นแสงสว่างที่คนอื่นไม่เห็นหรือไม่ได้เกิดขึ้นจริง
  • อาการหูแว่ว (Auditory Hallucination) ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงที่ดังมาจากจิตใจหรือดังมาจากภายนอก มักจะได้ยินเสียงคนกำลังพูดคุยกันหรือบอกให้ทำอะไรบางอย่าง ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใครพูดอยู่ หรืออาจได้ยินเสียงอื่น ๆ เช่น คนกำลังเดิน มีเสียงเคาะ เป็นต้น
  • ประสาทหลอนทางการได้กลิ่น (Olfactory Hallucination) ผู้ป่วยอาจจะคิดว่าสิ่งที่ตนเองกำลังได้กลิ่นเป็นกลิ่นที่มาจากบางสิ่งบางอย่างรอบ ๆ ตัว หรือเป็นกลิ่นที่มาจากตนเอง เช่น ได้กลิ่นไม่พึงประสงค์เมื่อตื่นนอนมากลางดึก หรือได้กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์จากร่างกายตนเอง แต่ในความจริงแล้วไม่มีกลิ่นนั้น นอกจากนั้น อาจเป็นกลิ่นที่ตนเองชอบ เช่น กลิ่นหอมของดอกไม้ เป็นต้น
  • ประสาทหลอนทางการรับรส (Gustatory Hallucination) ผู้ป่วยอาจได้รับรสชาติของอาหารที่แปลกไปหรือเป็นรสชาติที่ไม่พึงประสงค์ และมักพบในผู้ป่วยโรคลมชัก
  • ประสาทหลอนทางการสัมผัส (Tactile Hallucination) ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนถูกสัมผัสหรือมีบางสิ่งขยับอยู่ในร่างกาย ตัวอย่างเช่น รู้สึกเหมือนมีแมลงไต่อยู่บนผิวหนัง อวัยวะภายในกำลังเคลื่อนที่ รวมไปถึงอาจรู้สึกเหมือนมีมือของคนอื่นมาสัมผัสร่างกายหรือจั๊กจี้
สาเหตุของอาการหลอน สาเหตุของอาการหลอน เกิดขึ้นได้จากความเจ็บป่วยทางกายและจิตใจ รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่
  • โรคทางสุขภาพจิต (Mental Illnesses) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อย เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) อาการเพ้อ (Delirium)
  • โรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม ไมเกรน โรคลมชัก  และเนื้องอกในสมอง
  • โรคสุขภาพกายอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง และ Charles Bonnet Syndrome หรือโรคที่่มีความรุนแรง เช่น เอดส์ ไตวายและตับล้มเหลว
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ การอดนอนหรือนอนหลับไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการหลอนได้ โดยเฉพาะไม่ได้นอนหลับติดต่อกันหลายวันหรือนอนหลับไม่เพียงพอในช่วงระยะเวลาหนึ่งติดต่อกัน
  • สารเสพติดและแอลกอฮอล์ เป็นอีกสาเหตุที่พบได้บ่อย ทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว ไม่ว่าจะเป็นหลังการดื่มเครื่อมดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากหรือการใช้สารติดที่ผิดกฎหมายอย่างโคเคน นอกจากนั้น ยาหรือสารเคมีที่ทำให้ประสาทหลอน เช่น ยาแอลเอสดี (LSD) และแอมเฟตามีน (Amphetamine) ก็ทำให้เกิดอาการหลอนได้เช่นกัน
  • ยารักษาโรคบางชนิด อาการหลอนอาจเกิดจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการ อย่างไรก็ตาม อาการหลอนที่มีสาเหตุจากการใช้ยารักษาโรคจะหายไปเมื่อหยุดใช้ยา และก่อนหยุดใช้ยาใด ๆ ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
การวินิจฉัยอาการหลอน แพทย์จะวินิจฉัยจากการถามประวัติอาการและตรวจร่างกาย รวมไปถึงอาจตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ และรวมไปถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือการตรวจอีอีจี (Electroencephalogram: EEG) เพื่อหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก นอกจากนั้น ในบางรายที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นเนื้องอกในสมองหรือมีปัญหาของเส้นเลือดในสมอง แพทย์จะให้ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอมอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ซึ่งช่วยให้แพทยตรวจสอบภาพของโครงสร้างภายในสมองได้

นอกจากนั้น หากพบว่าคนที่รู้จักหรือใกล้ชิดมีอาการหลอน ไม่ควรปล่อยไว้เพียงลำพัง เพราะอาการหลอนอาจกระตุ้นให้เกิดความกลัวและหวาดระแวง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้น ควรเฝ้าดูแลผู้ป่วยอยู่เสมอก่อนที่จะพาไปพบแพทย์ โดยผู้ที่คอยเฝ้าดูแลจะสามารถช่วยอธิบายเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยให้แพทย์ทราบได้

การรักษาอาการหลอน

การรักษาอาการหลอน จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ตัวอย่างเช่น

  • การรักษาด้วยยา เช่น หากอาการหลอนเกิดขึ้นจากอาการถอนสุราที่รุนแรง แพทย์อาจให้ใช้ยาเพื่อชะลอระบบประสาท หรือการใช้ยารักษาโรคทางจิตและหรือโรคทางสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ รวมไปถึงให้ใช้ยาต้านชัก (Antiseizure) เพื่อรักษาโรคลมชัก และใช้ยาทริปแทน (Triptans) หรือยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) สำหรับผู้ที่เป็นไมเกรน
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น จอตาเสื่อม ต้อกระจก หรือต้อหิน ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ หรือผู้ป่วยที่มีเนื้องอกอาจได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีหรือผ่าตัด
  • การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคแก่ผู้ป่วย ให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ขึ้นกับตัวผู้ป่วยและลักษณะของโรค โดยจะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอาการและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคได้
ภาวะแทรกซ้อนของอาการหลอน อาการหลอนอาจกระตุ้นให้เกิดความกลัวหรืออาการหวาดระแวงได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือการกระทำที่อาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนั้น หากมีสาเหตุมาจากโรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
  • ฆ่าตัวตาย
  • ทำร้ายตัวเอง
  • เป็นโรควิตกกังวลและโรคย้ำคิดย้ำทำ
  • มีภาวะซึมเศร้า
  • ติดสุรา สารเสพติด หรือยาสูบ
  • ไม่สามารถทำงานหรือเรียนหนังสือได้ตามปกติ
  • เกิดปัญหาทางด้านการเงินและด้านกฎหมาย และอาจกลายเป็นคนเร่ร่อน
  • แยกตัวออกจากสังคม
  • มีปัญหาทางด้านสุขภาพ
  • ถูกหลอกลวงหรือฉ้อโกง
  • มีพฤติกรรมก้าวร้าว
การป้องกันอาการหลอน

การป้องกันหรือดูแลตนเองสำหรับผู้ที่มีอาการหลอน จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ตัวอย่างเช่น

  • หากผู้ป่วยมีอาการหลอนจากการนอนหลับไม่เพียงพอ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อไม่ให้อาการแย่ลง
  • หากอาการหลอนมีสาเหตุจากความป่วยทางจิต เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งไม่สามารถป้องกันได้ แต่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ควบคุมอาการได้ก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่สำคัญอาจทำให้อาการดีขึ้นได้ในระยะยาว นอกจากนั้น การปฏิบัติตามแผนการรักษาตามที่แพทย์แนะนำจะป้องกันการเกิดซ้ำของอาการรวมทั้งช่วยให้อาการไม่แย่ลง