Illness name: คุดทะราด yaws

Description:

คุดทะราด (Yaws)

ความหมาย คุดทะราด (Yaws)

Share:

คุดทะราด (Yaws) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ส่งผลให้เกิดรอยแผลลักษณะเป็นตุ่มตามผิวหนัง ซึ่งอาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการรักษา รอยแผลต่าง ๆ อาจลุกลามไปยังบริเวณกระดูกและข้อต่อจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา

คุดทะราดเป็นโรคที่มักแพร่ระบาดในประเทศเขตร้อนชื้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทย และยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค แต่ในปัจจุบันพบการเกิดโรคนี้ได้น้อย โดยผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างไรก็ตาม แม้จะพบได้น้อย แต่หากพบสัญญาณของโรคควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์

อาการของคุดทะราด

อาการทางผิวหนังจากคุดทะราดมักเป็นรอยแผลแบบรอยย่นปูด (Papilloma) บริเวณที่มีการติดเชื้อ มักพบที่บริเวณขาและก้น จากนั้นรอยแผลจะเริ่มลุกลามไปยังส่วนอื่นและมีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น เป็นแผลเปื่อย (Ulcer Papilloma) ตุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีสีม่วงคลํ้าคล้ายผลราสเบอร์รี่ (Framboesia หรือ Raspberry Lesion) ต่อมน้ำเหลืองบวมใต้ผิวหนังบริเวณใกล้ ๆ ที่มีรอยแผลและตกสะเก็ด ส่งผลให้เกิดอาการคัน ในผู้ป่วยบางรายรอยตุ่มนูนอาจค่อย ๆ ดีขึ้นเองในระยะเวลา 6 เดือนและอาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้

หากไม่ได้รับการรักษา อาการต่าง ๆ อาจรุนแรงขึ้น โดยรอยแผลที่เป็นตุ่มนูนหรือรอยสะเก็ดอาจลุกลามไปยังบริเวณอื่น อย่างใบหน้า แขน ขา ก้น หรือฝ่าเท้าที่ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บขณะเดิน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนที่ไม่ได้รับการรักษานานเกิน 5 ปี อาจเสี่ยงต่ออาการที่รุนแรงขึ้น โดยแผลต่าง ๆ อาจลุกลามไปยังบริเวณอื่น อย่างกระดูกและข้อ จนส่งผลให้อวัยวะบริเวณดังกล่าวเกิดการผิดรูปและพิการไป เช่น จมูก ขากรรไกร หรือเพดานปาก เป็นต้น

ทั้งนี้ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติในลักษณะข้างต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการเดินทางในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการลุกลามของโรค 

สาเหตุของคุดทะราด

คุดทะราดเป็นโรคทางผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum pertenue โดยอาจเกิดจากการสัมผัสแผลของผู้ป่วยคุดทะราดคนอื่น ๆ โดยตรง หรือเชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยถลอกหรือแผลบนผิวหนังด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น แมลงวันตอม หรือการใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

การวินิจฉัยคุดทะราด

ในการวินิจฉัยคุดทะราดเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมถึงตรวจร่างกายเบื้องต้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการทางผิวหนังจากคุดทะราดมักวินิจฉัยได้ด้วยตาเปล่า แต่ในบางกรณี แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมเพื่อความแม่นยำ เช่น การตรวจเลือด การนำตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการไปส่องกล้อง หรือวิธีอื่น ๆ ตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เป็นต้น

การรักษาคุดทะราด

โดยทั่วไปแพทย์มักใช้ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน (Benzathine Penicillin) ชนิดฉีดในการรักษาคุดทะราด โดยปริมาณจะแตกต่างกันไปตามอายุของผู้ป่วย แต่หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาดังกล่าว แพทย์จะใช้ยาชนิดอื่นในการรักษาแทน เช่น ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) หรือยาบางชนิดในกลุ่มเตตราไซคลิน (Tetrecycline) เป็นต้น นอกจากนี้แพทย์อาจนัดตรวจเพิ่มเติมเพื่อติดตามผลการรักษาภายหลังจากรับยาไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนของคุดทะราด

ผู้ป่วยคุดทะราดที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้ผิวหนังหรือกระดูกผิดรูปจากการลุกลามของโรคได้ โดยอวัยวะที่มักพบได้บ่อย เช่น ขา จมูก เพดานปาก และขากรรไกร เป็นต้น

การป้องกันคุดทะราด

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวัคซีนป้องกันคุดทะราด แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยเป็นหลัก โดยการล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสสิ่งสกปรกหรือหลังใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น รวมถึงไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยคุดทะราด หรืออยู่อาศัยร่วมกับผู้ป่วยคุดทะราด เป็นต้น