Illness name: ฝี

Description:

ฝี
  • ความหมาย
  • อาการของฝี
  • สาเหตุของฝี
  • การวินิจฉัยฝี
  • การรักษาฝี
  • ภาวะแทรกซ้อนของฝี
  • การป้องกันการเกิดฝี

ความหมาย ฝี

Share:

ฝี (Abscess) คือ ตุ่มหนองอักเสบสะสมใต้ผิวหนัง หนองมีกลิ่นเหม็น เจ็บปวดเมื่อสัมผัสโดน และก่อตัวขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว และเชื้อโรค ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ฝีสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ทั้งอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน หากเป็นฝีที่ผิวหนังภายนอกที่มีขนาดเล็กและไม่มีการเจ็บป่วยรุนแรง อาการอาจจะดีขึ้นและฝีอาจจะหายไปเอง แต่หากเป็นฝีที่อวัยวะภายใน จะค่อนข้างเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

ฝี แบ่งเป็น 2 ประเภท ตามบริเวณที่เกิด ได้แก่

ฝีที่ผิวหนัง

เป็นฝีที่ก่อตัวขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง โดยบริเวณรากผมหรือขนที่เกิดการติดเชื้อจะพัฒนาจนเกิดฝี มีอาการ คือ ฝีเกิดการอักเสบบวมแดง เจ็บปวด รู้สึกแสบร้อน ในบางครั้งการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นในทรวงอกของผู้หญิงที่ให้นมบุตรได้กลายเป็นฝีที่เต้านม และบริเวณต่อมใต้ผิวหนังที่แคมอวัยวะเพศหญิงอาจเกิดการอักเสบกลายเป็นฝีที่เรียกว่า ฝีต่อมบาร์โธลิน (Bartholin's Abscess)

ฝีที่อวัยวะภายใน

เป็นฝีที่ก่อตัวขึ้นบริเวณอวัยวะภายใน หรือในบริเวณที่ว่างระหว่างอวัยวะภายในร่างกาย อาการแสดงขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดฝี โดยฝีภายในร่างกายมักเกิดจากอาการเจ็บป่วยอย่างอื่นที่ส่งผลทำให้เกิดฝี เช่น การติดเชื้อในตับทำให้เกิดฝีในตับ การติดเชื้อในเหงือกและฟันทำให้เกิดฝีและฟันเป็นหนองได้ เป็นต้น

ตัวอย่างของฝีแต่ละชนิด ได้แก่

  • โพรงหนองที่ฟัน เกิดบริเวณเนื้อใต้ฟัน หรือบริเวณเหงือกและกระดูกกรามใต้ฟัน
  • หนองที่ทอนซิล เกิดบริเวณต่อมทอนซิลในช่องปาก และผนังด้านในลำคอ
  • ฝีต่อมบาร์โธลิน เกิดในต่อมบาร์โธลินบริเวณผิวหนังที่แคมอวัยวะเพศหญิง
  • ฝีที่ก้น เกิดบริเวณผิวหนังที่รอยแยกหรือร่องก้น
  • ฝีบริเวณทวารหนัก เกิดบริเวณลำไส้ตรงและทวารหนัก
  • ฝีไขสันหลัง เกิดบริเวณโดยรอบไขสันหลัง
  • ฝีในสมอง เกิดภายในเนื้อสมองใต้กะโหลกศีรษะ เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อาการของฝี

อาการของฝีโดยทั่วไป คือ มีตุ่มหนองอักเสบบวม เจ็บปวดและแสบร้อนเมื่อสัมผัสโดน รู้สึกไม่สบายตัว และอาจมีไข้สูงหรือหนาวสั่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณอาการของการติดเชื้อ

สาเหตุของฝี

สาเหตุของการเกิดฝีบริเวณผิวหนังเป็นการอุดตันของต่อมน้ำมันหรือต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง และการอักเสบของรูขุมขนหรือเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ทำให้เชื้อโรคแทรกตัวเข้าไปภายในต่อมเหล่านี้ จึงเกิดกระบวนการอักเสบของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อต้านต่อเชื้อโรค เกิดเป็นฝีที่มีการอักเสบและโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเชื้อส่วนใหญ่ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฝี คือ เชื้อแบคทีเรีย

ส่วนสาเหตุของการเกิดฝีภายในร่างกาย มักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พัฒนาขึ้นหลังป่วยจากอาการอื่น ๆ อย่างการติดเชื้อภายในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไส้ติ่งอักเสบและแตกภายในช่องท้อง ทำให้เชื้อแบคทีเรียกระจายเข้าสู่เนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้อง จนอาจเกิดเป็นฝีในเวลาต่อมาได้

การวินิจฉัยฝี

การวินิจฉัยฝีทำได้โดยสังเกตว่า มีตุ่มหนองเกิดขึ้นตามร่างกาย แล้วตุ่มหนองนั้นทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือไม่ หากตุ่มนั้นมีขนาดใหญ่กว่า 1 เซ็นติเมตรหรือครึ่งนิ้ว หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้อาการป่วยหรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นตามมาได้

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักถามอาการ ประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกายในบริเวณที่เกิดฝี หรือใช้วิธีการตรวจเฉพาะจุดในบริเวณที่เกิดฝี ส่งตรวจตัวอย่างของเหลวจากฝี และแพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการอัลตราซาวด์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สำหรับฝีที่อวัยวะภายใน

การรักษาฝี

การรักษาฝีในเบื้องต้น หากฝีมีขนาดเล็กและไม่เจ็บปวดรุนแรง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่บ้าน อาการจะดีขึ้นและฝีจะหายไปเอง โดยต้องหลีกเลี่ยงการบีบกดหรือใช้เข็มเจาะฝีด้วยตนเองเพื่อให้ของเหลวไหลออกมา เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงและอาจสร้างความเสียหายแก่เส้นเลือดบริเวณดังกล่าวได้

แต่หากฝีมีขนาดใหญ่หรือมีอาการป่วยที่รุนแรง ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ และอาจใช้การผ่าตัดเพื่อถ่ายหนองในฝีออก ทั้งนี้ การรักษาฝีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของฝี ชนิดและบริเวณที่เกิดฝี และดุลยพินิจของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนของฝี

ภาวะแทรกซ้อนของฝีที่ผิวหนังและฝีที่อวัยวะภายในโดยรวมแล้ว คือ การติดเชื้อในเนื้อเยื่อ และการติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากเชื้อที่อยู่ในหนองภายในฝีลามเข้าสู่กระแสเลือดหรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ หรือฝีอาจแตกและทำให้เชื้อลามไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ได้

การป้องกันการเกิดฝี

การป้องกันการเกิดฝีที่ผิวหนัง สามารถทำได้ด้วยการรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งรักษาความสะอาดและดูแลสุขอนามัยในด้านต่าง ๆ ด้วย ส่วนฝีที่อวัยวะภายในมักเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคและอาการต่าง ๆ ก่อนหน้า จึงเป็นการยากที่จะป้องกันไม่ให้ฝีเกิดขึ้น

อาการของ ฝี