Illness name: ลำไส้อักเสบ

Description:

ลำไส้อักเสบ

ความหมาย ลำไส้อักเสบ

Share:

ลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) คือโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (Inflammatory Bowel Disease: IBD) ชนิดหนึ่ง ลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังจะเกิดการอักเสบที่เยื่อบุผิวบริเวณลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ส่งผลให้เกิดแผลที่ผนังทางเดินอาหาร อาการอักเสบที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดเลือดออกที่ผนังลำไส้ รวมทั้งทำให้ลำไส้บีบตัวเร็วขึ้น ผู้ป่วยจึงเกิดอาการปวดท้อง ท้องร่วง ถ่ายมีเลือดและมูกปนออกมาซึ่งเกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุผิวที่เกิดการอักเสบ

ลำไส้ใหญ่คือส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหาร เป็นที่รวมกากอาหารและของเสีย ไส้ตรง (Rectum) คือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่อยู่ติดกับช่องทวารหนัก เป็นอวัยวะที่เป็นทางผ่านของกากอาหารก่อนถูกขับออกจากร่างกาย โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ โดยอาการของโรคมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุ 15-30 ปี หรืออยู่ในช่วงอายุ 50-70 ปี

อาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

ผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังจะแสดงอาการของโรคออกมาหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าเกิดการอักเสบขึ้นที่บริเวณใด โดยทั่วไปแล้ว โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังมักปรากฏอาการ ดังนี้

  • ท้องร่วง ผู้ป่วยมักถ่ายมีมูกเลือดปนมาด้วย บางรายอาจเกิดอาการท้องร่วงกะทันหันและอาจถ่ายวันละ 10-20 ครั้ง จนบางครั้งทำให้ผู้ป่วยต้องตื่นกลางดึกขึ้นมาเพื่อถ่าย
  • ท้องผูก การอักเสบของลำไส้บางส่วนอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องผูกได้ ซึ่งพบได้น้อยกว่าอาการท้องร่วง
  • มีอาการปวดบีบที่ท้อง
  • เจ็บที่ลำไส้ตรง ลำไส้ตรงมีเลือดออก
  • น้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย
  • เป็นไข้
  • แคระแกร็น เกิดกับเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร

โรคลำไส้อักเสบอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการปวดบริเวณข้อต่อ แผลในปาก ความผิดปกติที่ตาหรือตับ โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักเกิดอาการเป็น ๆ หาย ๆ เกิดอาการอักเสบเรื้อรังเป็นปี (Remission) จากนั้นก็กลับมาเป็นซ้ำอีก (Flare-Up)

สาเหตุของลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

ทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังอย่างชัดเจน แต่สาเหตุที่เป็นไปได้อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ หรือภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โดยทั่วไปแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาภายในร่างกายอย่างเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ภูมิคุ้มกันที่ผลิตขึ้นมานั้นก็จะทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายแทน ลำไส้อักเสบอาจเกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร โดยผู้ป่วยโรคนี้มีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดอาการลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ทั้งนี้ พันธุกรรมก็อาจเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่วยเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นลำไส้อักเสบมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคนี้สูงขึ้น

การวินิจฉัยลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

เบื้องต้น แพทย์จะสอบถามผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการของโรค สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย และประวัติการรักษา รวมทั้งอาจตรวจร่างกายผู้ป่วยว่ามีอาการอย่างอื่นหรือเกิดอาการตึงที่ท้องหรือไม่ ทั้งนี้ แพทย์ต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการแยกวินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังออกจากโรคโครห์น ซึ่งมีลักษณะอาการของโรคคล้ายกัน การวินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังประกอบด้วย

  • การตรวจเลือด วิธีนี้จะตรวจประเมินภาวะโลหิตจางและการอักเสบ โดยผลตรวจเลือดจะแสดงว่าผู้ป่วยมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ แต่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น ตรวจการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR) ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าผู้ป่วยเกิดอาการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกาย
  • การตรวจตัวอย่างอุจจาระ แพทย์จะเก็บตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วยเพื่อตรวจการติดเชื้อ โดยแยกการติดเชื้อและปรสิตออกจากกัน เนื่องจากทั้ง 2 อย่างนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับลำไส้ที่มีอาการคล้ายโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง แพทย์จะวินิจฉัยลำไส้อักเสบโดยดูเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อยู่ในอุจจาระ
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) วิธีนี้จะช่วยให้วินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบได้แม่นยำและเห็นลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วยได้ชัดเจน โดยแพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กซึ่งมีกล้องติดอยู่เข้าไปทางลำไส้ตรงเพื่อดูภายในลำไส้ ทั้งนี้ระหว่างการตรวจ แพทย์จะให้ยาระงับประสาทหรือยาแก้ปวดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายและทำการวินิจฉัยได้อย่างราบรื่น การส่องกล้องจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง หลังจากตรวจเสร็จผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ผู้ป่วยที่ต้องทำการวินิจฉัยด้วยวิธีนี้ควรเตรียมตัวให้พร้อม โดยรับประทานยาระบายเพื่อล้างของเสียต่าง ๆ ออกจากภายในลำไส้ให้หมด นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เกิดอาการอักเสบภายในลำไส้ส่วนปลาย จะได้รับการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องซิกมอยด์สโคป (Sigmoidoscopy) แทนการส่องกล้องตรวจแบบแรก ใช้เวลาการตรวจประมาณ 15-30 นาที ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันทีที่ตรวจเสร็จ
  • การเอกซเรย์ ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการของโรคอย่างรุนแรง แพทย์อาจเอกซ์เรย์บริเวณท้องของผู้ป่วย เพื่อดูว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือไม่
  • การสวนแป้งแบเรียม (Barium Enema) วิธีนี้นับเป็นอีกหนึ่งวิธีในการวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบ โดยการสวนแป้งแบเรียมนี้จะนำสารทึบรังสีเข้าไปทางลำไส้ตรง ฉีดที่ลำไส้ และสะท้อนภาพภายในลำไส้ออกมาผ่านภาพเอกซเรย์ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ยังมีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจด้วยการส่องกล้องในลำไส้ใหญ่
  • การทำซีทีสแกน แพทย์จะทำซีทีสแกนผู้ป่วยหากสันนิษฐานว่าผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังหรืออาการอักเสบที่ลำไส้เล็ก โดยแพทย์จะสแกนบริเวณท้องหรือเชิงกรานของผู้ป่วย ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวจะแสดงว่าผู้ป่วยเกิดอาการอักเสบที่ลำไส้มากน้อยแค่ไหน
  • การตัดชิ้นเนื้อตรวจ แพทย์จะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อของลำไส้ที่ได้มาจากการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้ง 2 แบบออกมาตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค

การรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

ลำไส้ใหญ่อักเสบถือเป็นโรคเรื้อรัง เป้าหมายในการรักษาของโรคนี้คือเพื่อลดการอักเสบที่ก่อให้เกิดอาการป่วยของโรค เมื่ออาการของโรคอยู่ตัวแล้ว แพทย์จะติดตามผลการรักษาทุก 6 เดือน ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถไปพบแพทย์ได้บ่อยมากกว่านั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น การรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ได้แก่

การรักษาด้วยยา แม้โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังจะรักษาให้หายขาดด้วยยาไมได้ แต่การใช้ยานั้นจะช่วยให้ผู้ป่วย รักษาอาการอักเสบเรื้อรังที่เป็น ๆ หาย ๆ ให้ทรงตัว ลดผลข้างเคียงจากการรักษาและลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น การรักษาด้วยยานั้นมักขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค บริเวณลำไส้ที่เกิดการอักเสบ และภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยเป็น โดยทางเลือกในการใช้ยารักษานั้น ประกอบด้วย

  • อาการของโรคระดับอ่อนถึงระดับค่อนข้างรุนแรง ผู้ป่วยที่เกิดอาการของโรคในระดับนี้จะได้รับการรักษาด้วยยาที่บรรเทาอาการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร ดังนี้
    • ยาอะมิโนซาลิไซเลต (Aminosalicylates) ที่อยู่ในกลุ่มยา Disease-Modifying Antirheumatic Drug (DMARD) โดยผู้ป่วยอาจได้รับยาผ่านการรับประทานหรือสวนทวารหนัก ซึ่งผู้ป่วยจะรับยารูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยเกิดอาการอักเสบที่บริเวณใดของลำไส้ ทั้งนี้ ยาอะมิโนซาลิไซเลตอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับไตและตับอ่อนซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก ยาที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น ยาเมซาลามีน (Mesalamine) ยาโอลซาลาซีน (Olsalazine) หรือยาบอลซาลาไซด์ (Balsalazide)
  • อาการของโรคในระดับรุนแรง หากผู้ป่วยเกิดอาการของโรคเรื้อรังต่อเนื่อง อาจต้องได้รับการรักษาด้วยยาตัวอื่น ดังนี้
    • ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (Corticosteroids) ยานี้จะช่วยลดอาการอักเสบ ยามีรูปแบบสำหรับรับประทาน ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือสวนทวารหนัก ขึ้นอยู่กับว่าลำไส้เกิดการอักเสบที่บริเวณใด แพทย์จะจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคในระดับค่อนข้างรุนแรงไปจนถึงรุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์มักก่อให้เกิดผลข้างเคียงหากใช้ติดต่อเป็นเวลานาน เช่น หน้าบวมฉุ ขนดก เหงื่อออกตอนกลางคืน นอนไม่หลับ และผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน กระดูกเปราะ กระดูกหัก ต้อกระจกและต้อหิน รวมทั้งเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
    • ยากดระบบภูมิต้านทาน (Immunomodulators) ยานี้เป็นยาที่ช่วยระงับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยลดเซลล์ที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันร่างกาย หรือยับยั้งการทำงานของสารโปรตีนที่ทำให้เกิดการอักเสบ ยากดระบบภูมิต้านทานถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังที่เกิดอาการของโรครุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านอักเสบ ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยานี้ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้มากเนื่องจากทำให้ระบบภุมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ ยาที่จัดอยู่ในยากดระบบภูมิต้านทาน ได้แก่ ยาเมอร์แคปโตพิวรีน (6-Mercaptopurine: 6-MP) ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) และยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine)

นอกจากนี้ ผู้ป่วยลำไส้อักเสบจำเป็นต้องรับประทานยาอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการของโรค โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานยา ยาอื่น ๆ ที่ช่วยในการรักษาลำไส้อักเสบ ได้แก่

  • ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยลำไส้อักเสบที่มีไข้นั้นจะได้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
  • ยาแก้ท้องเสีย ผู้ป่วยที่เกิดอาการท้องร่วงรุนแรงควรรับประทานยาแก้ท้องเสียอย่างยาโลเพอราไมด์ (Loperamide) เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการใช้ยา เนื่องจากผู้ป่วยอาจเสี่ยงเกิดอาการพองตัวของลำไส้ (Toxic Megacolon)
  • ยาบรรเทาอาการปวด ผู้ที่มีอาการปวดไม่รุนแรงมาก แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาอะเซตามิโนเฟนเพื่อบรรเทาอาการปวด แต่จะไม่ให้ผู้ป่วยรับประทานยาไอบูโพรเฟน ยาซินเฟล็กซ์ (Naproxen Sodium) และยาไดโคลฟีแนค โซเดียม (Diclofenac Sodium) เนื่องจากจะทำให้อาการกำเริบและรุนแรงขึ้น
  • ธาตุเหล็กเสริม ผู้ป่วยลำไส้อักเสบที่เกิดอาการเลือดออกในลำไส้เรื้อรัง อาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง ควรรับประทานธาตุเหล็กเพื่อเสริมระดับธาตุเหล็กในร่างกาย

สำหรับสตรีมีครรภ์หรือวางแผนจะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการใช้ยารักษา เนื่องจากยาบางตัวอาจไม่สามารถใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังที่เกิดในสตรีมีครรภ์ได้ โดยแพทย์จะแนะนำยาที่ผู้ป่วยสามารถใช้รักษาได้ขณะตั้งครรภ์หรือต้องให้นมบุตร

  • การผ่าตัด เป็นการรักษาโดยการผ่าตัดลำไส้บริเวณที่มีการอักเสบออก แพทย์จะผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยลำไส้อักเสบที่มีเลือดออกมาก ลำไส้ทะลุ ได้รับการวินิจฉัยหรือสันนิษฐานว่าเป็นมะเร็ง รวมทั้งอาการของโรครุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา โดยการผ่าตัดเพื่อรักษาลำไส้อักเสบ ประกอบด้วย
    • การผ่าตัดลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงออก (Proctocolectomy) การผ่าตัดวิธีนี้จะนำลำไส้ใหญ่ทั้งหมดและลำไส้ตรงออกไป โดยศัลยแพทย์จะผ่าตัดเปิดช่องท้องผู้ป่วยเป็นช่องเล็ก ๆ และนำส่วนบนสุดของลำไส้เล็กออกมาไว้ด้านนอกที่ผนังหน้าท้อง จะมีถุงเอาไว้รองรับอุจจาระหรือของเสียที่ออกมาจากลำไส้ที่นำออกมาเปิดข้างนอก
    • การผ่าตัดต่อลำไส้ (Ileoanal Anastomosis) ศัลยแพทย์จะผ่าเอาลำไส้ส่วนที่เกิดการอักเสบออกไป แล้วนำลำไส้ส่วนที่เหลือซึ่งไม่มีความผิดปกติมาเชื่อมกับกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนัก เพื่อให้ผู้ป่วยขับถ่ายออกทางทวารหนักได้เหมือนคนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจมีอาการถ่ายเร็วและบ่อยกว่า รวมทั้งอาจเกิดการอักเสบตรงบริเวณลำไส้ที่ทำการผ่าตัดและต่ออันเป็นภาวะแทรกซ้อนของการรักษาด้วย 
  • การรักษาด้วยซินไบโอติก
    ซินไบโอติก คือ การนำจุลินทรีย์มีประโยชน์หรือโพรไบโอติก รวมเข้ากับพรีไบโอติกซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซินไบโอติกเป็นอีกหนึ่งการรักษาทางเลือกที่มีการศึกษามากขึ้นในปัจจุบัน เชื่อกันว่าซินไบโอติกอาจช่วยต้านการอักเสบ ลดอาการผิดปกติอย่างอาการปวดท้อง ท้องอืด และอาจช่วยเรื่องการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้

    งานวิจัยหนึ่งศึกษาปฏิกิริยาของเซลล์ในห้องทดลองกับซินไบโอติกชนิดบาซิลลัสโคแอกกูแลน (Bacillus coagulans) พบว่าช่วยลดการอักเสบของเซลล์ทดลองได้ งานวิจัยอีกชิ้นให้ประชากรประมาณ 40 - 60 คนที่มีอาการผิดปกติ อย่างอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือไม่สบายท้อง รับประทานซินไบโอติกติดต่อกัน 1-2 เดือน โดยหลังจากใช้ซินไบโอติกผู้ทดลองได้ให้ประชากรทำแบบสอบถามเพื่อประเมินอาการ พบว่า ประชากรบางส่วนรู้สึกว่าตนเองมีอาการดังกล่าวลดลง โดยเฉพาะอาการปวดท้องและท้องอืดนอกจากนี้ ยังมีการทดลองที่สังเกตความเปลี่ยนแปลงของอุจจาระในหนูที่ติดเชื้อโรคลำไส้อักเสบ พบว่า อุจจาระของหนูหลังรับซินไบโอติกมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้ทดลองจึงสันนิษฐานว่าซินไบโอติกอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบและลดความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ แต่การรักษาสภาวะติดเชื้ออาจต้องดูอาการหรือปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย

    อย่างไรก็ตาม การใช้ซินไบโอติกยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติม อย่างการทดลองในมนุษย์ ขยายกลุ่มตัวอย่าง หรือใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ที่มีความแม่นยำและคลาดเคลื่อนน้อยแทนการใช้แบบสอบถาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับประสิทธิภาพการรักษาและความปลอดภัยในการใช้ซินไบโอติกได้

    ในปัจจุบันการนำซินไบโอติกชนิดดังกล่าวมาปรับอยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่รับประทานง่ายและยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการรับประทาน จึงอาจนำมาใช้เพื่อเสริมสุขภาพลำไส้ให้ดีขึ้นได้ในคนหลากหลายช่วงวัย แต่สำหรับผู้ต้องการใช้ซินไบโอติกในการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยในและปริมาณที่เหมาะสมก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและหญิงตั้งครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนของลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

ผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังสามารถเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อันเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคตามมาได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรค ได้แก่

  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังมีโอกาสป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้สูง โดยภาวะแทรกซ้อนนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากการป่วยเป็นลำไส้อักเสบโดยตรง แต่มาจากการรักษาลำไส้อักเสบด้วยการใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์เป็นเวลานาน นอกจากนี้ ร่วมกับการที่ผู้ป่วยต้องเลี่ยงรับประทานผลิตภัณฑ์เนยนมซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวกับอาการอักเสบของลำไส้ ผู้ป่วยที่เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ควรรับประทานวิตามินดีและแคลเซี่ยมเสริมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก
  • พัฒนาการล่าช้า อาการของลำไส้อักเสบและวิธีรักษาบางอย่างสามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและทำให้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้า เด็กและวัยรุ่นที่ป่วยเป็นลำไส้อักเสบควรวัดน้ำหนักและส่วนสูงเป็นประจำ โดยวัดส่วนสูงและน้ำหนักทุก ๆ 3-12 เดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ วิธีการรักษาโรค และระดับความรุนแรงของอาการ หากเด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการและการเจริญเติบโต ควรปรึกษากุมารแพทย์โดยตรง
  • ท่อน้ำดีอักเสบแข็งขั้นแรก (Primary Sclerosing Cholangitis: PSC) ผู้ป่วยจะเกิดอาการอักเสบที่ท่อน้ำดี โดยอาการจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภาวะนี้ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนของลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อย มักไม่แสดงอาการใด ๆ จนป่วยถึงขั้นสูงสุดของโรค ซึ่งจะปรากฏอาการ ได้แก่ เมื่อยล้าและรู้สึกเหนื่อยมาก ท้องร่วง คันตามผิวหนัง น้ำหนักลด รู้สึกหนาว ไข้ขึ้นสูง ผิวเหลือง แม้จะมียาที่สามารถใช้รักษาอาการบางอาการให้ทุเลาลงได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีทางการแพทย์ที่สามารถรักษาภาวะท่อน้ำดีอักเสบแข็งขั้นแรกได้ สำหรับผู้ป่วยที่เกิดอาการของภาวะแทรกซ้อนนี้อย่างรุนแรง อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ
  • ลำไส้โป่งพอง (Toxic Megacolon) อาการพองของลำไส้จัดเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบได้ไม่บ่อย จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังขั้นรุนแรง เนื่องจากลำไส้ที่อักเสบนั้นทำให้เกิดแก๊สภายในลำไส้ ส่งผลให้ลำไส้ใหญ่และบวมชึ้น ลำไส้โป่งพองถือเป็นภาวะที่อันตรายมากเพราะอาจทำให้ลำไส้ทะลุและเกิดการติดเชื้อในเลือด ผู้ป่วยที่เกิดอาการลำไส้โป่งพองจะเกิดอาการ ได้แก่ ปวดท้อง ไข้ขึ้นสูง หัวใจเต้นเร็ว รักษาได้ด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะหรือสารสเตอรอยด์เข้าหลอดเลือดดำ แต่หากรักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดลำไส้ออกไป อย่างไรก็ตาม การรักษาลำไส้อักเสบไม่ให้อาการของโรครุนแรงนั้นจะช่วยป้องกันลำไส้โป่งพองได้
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่ป่วยเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังเสี่ยงป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเกิดอาการอักเสบเกือบทั้งลำไส้ หากผู้ป่วยป่วยเป็นลำไส้อักเสบมานาน ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่รู้ว่าอาการได้ลุกลามกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว เนื่องจากอาการขั้นแรกของมะเร็งลำไส้ใหญ่เหมือนกับอาการลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยจึงควรได้รับการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำ โดยจะตรวจด้วยการส่องกล้องนอกจากนี้ ผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และได้รับสารอาหารครบถ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และเลี่ยงสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ การรับประทานยาอะมิโนซาลิไซเลตก็ช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

การป้องกันลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

การปรับการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตจะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าอาหารชนิดใดที่ทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการอักเสบ แต่ก็มีอาหารบางอย่างที่ทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้ โดยผู้ป่วยสามารถปรับวิธีรับประทานอาหารเพื่อช่วยให้อาการของโรคไม่รุนแรงขึ้นได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารมื้อย่อย ควรรับประทานอาหารวันละ 5-6 มื้อเล็กต่อวัน มากกว่ารับประทานอาหารมื้อใหญ่วันละ 3 มื้อ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอในแต่ละวัน เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผสมคาเฟอีน เพราะจะกระตุ้นลำไส้ให้ทำงานหนักและส่งผลให้อาการท้องร่วงแย่ลง รวมทั้งเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะจะทำให้เกิดแก๊สในลำไส้
  • ลดผลิตภัณฑ์เนยนม ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคอักเสบในระบบทางเดินอาหารหลายรายพบว่าการจำกัดการรับประทานผลิตภัณฑ์เนยนมนั้นช่วยให้อาการท้องร่วง ปวดท้อง และแก๊สในลำไส้ดีขึ้น ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโทสที่อยู่ในอาหารเหล่านี้ได้
  • ลดปริมาณอาหารที่มีกากใย ผู้ป่วยลำไส้อักเสบควรลดผักผลไม้ที่มีกากใยสูง เนื่องจากเส้นใยในผักผลไม้นั้นอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง