Illness name: หายใจไม่อิ่ม

Description:

หายใจไม่อิ่ม

ความหมาย หายใจไม่อิ่ม

Share:

หายใจไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath) เป็นลักษณะอาการที่ไม่สามารถหายใจสูดอากาศเข้าไปได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นการหายใจสั้น ๆ หรือรู้สึกหายใจไม่ออก เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลันในช่วงสั้น ๆ หรืออาจหายใจไม่อิ่มอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรม อยู่ในสภาพอากาศและสถานการณ์ที่ทำให้หอบเหนื่อยหายใจไม่ทัน หรืออาจกำลังป่วยด้วยโรคที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ

โดยทั่วไป หายใจไม่อิ่มมักเกิดจากกิจกรรมที่ใช้แรงหนัก ทำให้ร่างกายหอบเหนื่อยและหายใจไม่ทันหรือหายใจถี่เป็นช่วงสั้น ๆ แล้วอาการจะหายไปเมื่อพ้นจากกิจกรรมเหล่านั้น เช่น การออกกำลังกาย อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไป หรืออยู่บนที่สูง แต่หากเกิดอาการหายใจไม่อิ่มอยู่เสมอ หายใจไม่อิ่มอย่างรุนแรง หรือหายใจไม่อิ่มทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที

อาการหายใจไม่อิ่ม

ลักษณะอาการของการหายใจไม่อิ่ม คือ

  • หายใจไม่สะดวก รู้สึกเหมือนอากาศไม่พอ
  • หายใจเป็นช่วงสั้น ๆ หายใจถี่ ไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ตามปกติได้
  • รู้สึกอึดอัด แน่นหน้าอก
  • หายใจไม่ออก หรือรู้สึกเหมือนจะขาดใจ

ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ขาดอากาศหายใจแต่อย่างใด แต่อาจเป็นสัญญาณสำคัญของการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่ม

อาการหายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่ผู้ป่วยหายใจเอาอากาศเข้าไปได้ไม่สมดุลกับปริมาณที่ร่างกายต้องการ อันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้มีอาการหายใจไม่อิ่มปรากฏใน 2 ลักษณะ คือ

อาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และอาจเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายนาทีหรือหลายชั่วโมง เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น

ปัจจัยภายนอก

  • การออกกำลังกาย หรือใช้แรงอย่างหนัก
  • อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป
  • อยู่บนที่สูง ซึ่งมีความกดอากาศต่ำ
  • เกิดเหตุการณ์ทำให้ตื่นตระหนกตกใจกะทันหัน หรือเกิดความวิตกกังวล

ปัจจัยภายใน

  • ระบบทางเดินหายใจถูกกีดขวาง หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ เช่น มีเมล็ดผลไม้ติดอยู่ในลำคอ
  • โรคหอบหืด หลอดลมหดตัวแคบลง เกิดมูกเหนียวภายในทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ผู้ป่วยจึงหายใจลำบากและอาจมีเสียงหวีดขณะหายใจ
  • โรคภูมิแพ้ หรือปฏิกิริยาแพ้ต่อสารอย่างรุนแรง อาการที่อาจพบร่วมด้วย เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ เมื่อเกิดมูกเสมหะอุดตัน ทำให้หายใจติดขัด อาจพบร่วมกับอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย
  • เกิดลิ่มเลือดอุดตันภายในปอด
  • ภาวะปอดแตก หรือภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และภาวะหัวใจวาย

อาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง

เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง และอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน สามารถเกิดจากสาเหตุเดียวกันกับอาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นกะทันหันได้เช่นกัน อย่างโรคหอบหืด หรือโรคและภาวะเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy) ที่ทำให้หัวใจมีรูปร่างและขนาดที่เปลี่ยนไป ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายตามส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่อิ่มอย่างต่อเนื่องเรื้อรังหลายเดือน หรือหลายปีได้

นอกจากนี้ อาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังอาจเกิดจากโรคและภาวะอื่น ๆ เช่น

  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD)
  • เนื้อเยื่อในปอดอักเสบ และเกิดความเสียหาย
  • ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง
  • ภาวะอ้วน เนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป โดยเฉพาะบริเวณช่วงอกและช่วงท้อง ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้หายใจทำงานหนักขึ้น
  • สมรรถภาพร่างกายลดลง เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้เหนื่อยหอบและหายใจไม่อิ่มได้ง่ายเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • การตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบไหลเวียนโลหิตและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นอาการปกติสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

การวินิจฉัยอาการหายใจไม่อิ่ม

ไม่ว่าจะเป็นอาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรืออาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ล้วนเป็นสัญญาณของอาการป่วยที่รุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรสังเกตหรือบันทึกลักษณะอาการที่เกิดขึ้น ความถี่ของการเกิด ความรุนแรงของอาการ และอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการหายใจไม่อิ่ม

ผู้ป่วยสามารถปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากแพทย์ได้ โดยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการรุนแรงขึ้น มีอาการหายใจไม่อิ่มปรากฏขึ้นทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หายใจไม่อิ่มอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง มีอาการหายใจไม่อิ่มที่แย่ลงกว่าที่เคยเป็นก่อนหน้า หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น

  • หายใจมีเสียงหวีด และรู้สึกเหนื่อย
  • มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น
  • หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อนอนราบ
  • มีอาการแพ้หรือบวมตามอวัยวะ เช่น เท้า และข้อเท้า

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น อย่างตรวจฟังเสียงการเต้นของหัวใจและการทำงานของปอดด้วยหูฟังแพทย์ที่เรียกว่าสเต็ตโทสโคป (Stethoscope) ตรวจหาอาการต่าง ๆ ตามร่างกายภายนอก เช่น อาการขาบวม หรืออาการแพ้อื่น ๆ จากนั้น แพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์ เช่น เคยป่วยหรือกำลังป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจหรือไม่ และสอบถามลักษณะอาการป่วยในเบื้องต้น ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตและจดจำอาการสำคัญ เช่น

  • อาการหายใจไม่อิ่มเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือเกิดขึ้นบ่อย ๆ เป็นระยะ
  • หายใจไม่อิ่มเกิดจากการทำกิจกรรมใดมาก่อนหน้าหรือไม่ หรืออาการเกิดขึ้นมาเอง
  • อาการรุนแรงเพียงใด
  • มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก หรือไม่สามารถนอนราบลงได้

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับการตรวจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยหาโรคซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่ม

การตรวจเลือด

  • ตรวจหาความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง หรือค่าฮีมาโตคริต (Hematocrit) เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดแดงในการบรรจุออกซิเจน เช่น ในรายที่แพทย์มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคโลหิตจาง
  • ตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด (Oximetry) ด้วยเครื่องออกซิมิเตอร์ (Oximeter)
  • ตรวจหาระดับ BNP ในเลือด เพื่อหาระดับสาร BNP (Brain Natriuretic Peptides) ซึ่งจะถูกขับออกมาจากกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อตรวจว่าผู้ป่วยมีของเหลวอยู่ในปอดหรือไม่

การเอกซเรย์ช่วงอก เพื่อตรวจดูบริเวณปอด ตรวจหาร่องรอยการติดเชื้อ การอักเสบ หรือการเกิดรอยแผล เช่น ตรวจหาภาวะปอดบวม ปอดอักเสบ

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการตรวจเช็คการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจขาดเลือดหรือไม่

การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) เป็นการทดสอบการหายใจด้วยเครื่องมือที่ชื่อ สไปโรมิเตอร์ (Spirometer) ซึ่งจะวัดปริมาตรอากาศที่เข้าและออกจากปอด

การรักษาอาการหายใจไม่อิ่ม

ในเบื้องต้น ผู้ป่วยที่หายใจไม่อิ่มควรสังเกตที่มาที่ทำให้เกิดอาการ หากเป็นสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย เช่น อาการเกิดจากปัจจัยภายนอก ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองและบรรเทาอาการหายใจไม่อิ่มจนกว่าจะกลับมาหายใจได้ตามปกติ เช่น

  • นั่งหน้าพัดลม หรือปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศลงให้ห้องมีความเย็น
  • ยกหัวขึ้น หรือให้หัวอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าแนวระนาบหรืออยู่ในท่านั่ง เพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • สูดอากาศบริสุทธิ์ เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก และกำจัดมลภาวะทางอากาศออกไป
  • อยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง ห้องโล่ง ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด หรือเปิดหน้าต่าง มองดูทิวทัศน์ที่สบายตา
  • ฝึกใช้เทคนิคควบคุมความเครียด ความวิตกกังวล และการรับมือกับปัญหา ด้วยการเปลี่ยนมุมมอง การคิด และการจัดการกับอารมณ์และสถานการณ์ที่ยากลำบาก
  • รับประทานยาแก้ปวด หรือยารักษาที่ใช้ควบคุมอาการป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

เมื่อไปพบแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการหายใจไม่อิ่มจะได้รับการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ซึ่งแพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการและความรุนแรงของโรคต่อไป

ตัวอย่างวิธีการรักษาอาการหายใจไม่อิ่ม ได้แก่

  • ให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย
  • ให้ยาขยายหลอดลม
  • ให้ยาระงับอาการปวดที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น มอร์ฟีน
  • ให้ยาคลายกังวล (Anti­anxiety) เพื่อรักษาอาการเจ็บปวดและผ่อนคลายความวิตกกังวลที่ทำให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม

ภาวะแทรกซ้อนอาการหายใจไม่อิ่ม

อาการหายใจไม่อิ่มอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ หรืออาจขึ้นเกิดร่วมกับอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ไอ
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • เจ็บหน้าอก
  • เวียนศีรษะ
  • ปวดคอ
  • หน้ามืด เป็นลม

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมหรือหลังหายใจไม่อิ่ม อาจเป็นอาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่

การป้องกันการเกิดอาการหายใจไม่อิ่ม

  • ไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับปอด หัวใจ และระบบทางเดินหายใจ
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะและฝุ่นควัน ซึ่งอาจก่อโรคและสร้างปัญหาในระบบทางเดินหายใจได้
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์อันตราย หรือบีบบังคับให้เกิดความเครียดความวิตกกังวล
  • หากอยู่ในภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • หากกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคหรือภาวะใด ควรรับประทานยา รับการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์