Illness name: กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข

Description:

ความหมาย กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome)

Restless Legs Syndrome หรือกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข เป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกยุบยิบเหมือนมีบางสิ่งไต่ที่ต้นขา น่อง หรือเท้า ทำให้อยากขยับขาเพื่อขจัดความรู้สึกไม่สบายตัวออกไป อาการมักเกิดขึ้นขณะนั่งหรือนอนพัก และเกิดได้บ่อยในช่วงเวลากลางคืน หากอาการรุนแรงอาจรบกวนการนอนหลับและกระทบสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาว

Restless Legs Syndrome เรียกอีกชื่อว่า Willis-Ekbom Disease สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่มีโอกาสเกิดกับคนที่อยู่ในวัยกลางคนและพบบ่อยในเพศหญิง การรักษา Restless Legs Syndrome ต้องอาศัยการดูแลตนเองและการปรับพฤติกรรม ควบคู่กับการใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง

อาการของ Restless Legs Syndrome

อาการหลักของ Restless Legs Syndrome คือ ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากขยับขาบ่อย ๆ เนื่องจากรู้สึกไม่สบายขา แต่จะแตกต่างจากตะคริวหรือเหน็บชา โดยอาการมักเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวขาเป็นระยะเวลานาน เช่น

  • รู้สึกเหมือนมีบางสิ่งไต่บริเวณขา บางรายมีอาการขากระตุก รู้สึกเจ็บเหมือนถูกไฟช็อต ปวดหรือคันบริเวณขาทั้งสองข้าง ทำให้รู้สึกอยากขยับขาบ่อยครั้งเพื่อบรรเทาอาการ ในบางกรณีอาจมีอาการที่บริเวณแขน
  • อาการมักปรากฏหลังจากพักการใช้ร่างกายหรือไม่ได้เคลื่อนไหว เช่น เมื่อนั่งหรือนอนเป็นเวลานานจากการเดินทางด้วยรถ เครื่องบิน หรือการนั่งชมภาพยนตร์
  • มักมีอาการในช่วงเย็นและในช่วงกลางคืน บางรายอาจเกิดภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (Periodic Limb Movement Disorder) ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจเตะหรือสะบัดขาอย่างแรงระหว่างที่นอนหลับอยู่ ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง และรู้สึกอ่อนเพลียในวันรุ่งขึ้น
  • อาการมักดีขึ้นเมื่อได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ขยับขา ยืดกล้ามเนื้อ เดินหรือวิ่ง เป็นต้น

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงนัก อาการมักเป็น ๆ หาย ๆ จึงอาจเข้าใจว่าเป็นอาการที่เกิดจากความเครียดหรือการพักผ่อนน้อย แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้นอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การนอนหลับ และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

สาเหตุของ Restless Legs Syndrome

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า Restless Legs Syndrome อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ จึงทำให้เกิดอาการขาอยู่ไม่สุขได้

นอกจากนี้ อาจเกิดจากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอื่นต่อไปนี้

  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม จัดเป็นสาเหตุประเภทปฐมภูมิ เนื่องจากเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย สันนิษฐานว่ายีนบางตัวในร่างกายผู้ป่วยมีผลต่อการเกิดโรคนี้ และหากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติของโรคนี้มาก่อนก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิด Restless Legs Syndrome ได้สูงขึ้น โดยผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการช่วงก่อนอายุ 40 ปี 
  • โรคประจำตัว จัดเป็นสาเหตุประเภททุติยภูมิ เช่น ไตวาย เส้นเลือดขอด โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) โรคเรเนาด์ (Raynaud Disease) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) และโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) 
  • ภาวะตั้งครรภ์และระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง โดยอาจพบอาการครั้งแรกในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หรือในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการของโรคอยู่ก่อนแล้ว การตั้งครรภ์อาจทำให้อาการแย่ลงได้ อย่างไรก็ตาม อาการอาจหายไปได้หลังการให้กำเนิดบุตร
  • ความเสียหายของเส้นประสาทบริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า เนื่องจากโรคเบาหวานหรือภาวะติดสุราเรื้อรัง
  • ความเสียหายหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง รวมถึงการได้รับการฉีดยาชาที่บริเวณไขสันหลัง หรือการบล็อคหลัง (Spinal Block)
  • การใช้ยา เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (Anti-Nausea Medication) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) และยาแก้แพ้ (Antihistamines) เป็นต้น
  • การได้รับสารบางชนิด อย่างคาเฟอีนและแอลกอฮอล์

โดยทั่วไปแล้วโรค Restless Legs Syndrome พบได้ทุกช่วงวัย แต่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบได้มากในวัยกลางคน

การวินิจฉัย Restless Legs Syndrome

Restless Legs Syndrome ไม่มีวิธีวินิจฉัยที่เฉพาะเจาะจง แต่แพทย์จะประเมินจากการสอบถามอาการของผู้ป่วยว่าเข้าข่ายโรคกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขหรือไม่ โดยใช้เกณฑ์การประเมินดังนี้

  • มีความรู้สึกอยากขยับขาอย่างรุนแรงและบ่อยครั้ง เนื่องจากความรู้สึกไม่สบายบริเวณขา
  • มักเริ่มมีอาการหรืออาการแย่ลงเมื่อนั่งพักหรือนอนหลับ โดยไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย
  • อาการจะเกิดเป็นพัก ๆ เพียงชั่วคราว และอาการจะดีขึ้นเมื่อได้ขยับตัวหรือทำกิจกรรม เช่น ยืดกล้ามเนื้อหรือเดิน เป็นต้น
  • อาการมักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงเวลากลางคืน และอาจมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลยในระหว่างวัน
  • อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับประวัติสุขภาพหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย

ทั้งนี้ แพทย์อาจสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยา อาหารเสริม และโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน โรคไต และความผิดปกติของระบบประสาท แล้วจึงตรวจร่างกายและตรวจระบบประสาทเพิ่มเติมด้วยวิธี ดังนี้

  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด การทำงานของอวัยวะ สารเคมีภายในร่างกาย และระดับฮอร์โมนไทรอยด์
  • การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Electromyography) เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นประสาท
  • การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีปัญหาด้านการนอนหลับ อย่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) และภาวะขากระตุกขณะหลับ 

การรักษา Restless Legs Syndrome

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว การรักษาโรคประจำตัวหรือภาวะผิดปกติของร่างกายอาจช่วยให้อาการของ Restless Legs Syndrome ดีขึ้น เช่น หากตรวจวัดระดับธาตุเหล็กในเลือดแล้วพบว่าผู้ป่วยมีโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและวิตามินซีสูง หรืออาหารเสริมเพื่อรักษาอาการ เป็นต้น

แต่หากอาการของผู้ป่วยไม่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว การรักษาด้วยการดูแลตนเองควบคู่กับการใช้ยา อาจช่วยให้อาการของ Restless Legs Syndrome ดีขึ้นได้

การดูแลตนเอง

การปรับพฤติกรรมและดูแลตนเอง จะช่วยบรรเทาอาการ Restless Legs Syndrome ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • แช่น้ำอุ่นและนวดขาในน้ำอุ่นเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • ประคบร้อนหรือประคบเย็นเมื่อมีอาการเพื่อบรรเทาอาการไม่สบายขา
  • นวดขาหรือยืดกล้ามเนื้อขาในช่วงเย็นหรือก่อนนอน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากการอดนอนอาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย และอาจทำให้อาการแย่ลง โดยกำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา และควรจัดห้องนอนให้เงียบและมีอุณหภูมิเหมาะสมสำหรับการนอน
  • ออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินหรือว่ายน้ำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการ แต่ไม่ควรทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากหรือออกกำลังกายในเวลาเย็นหรือค่ำ เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ช็อกโกแลต กาแฟ ชา และน้ำอัดลม เป็นต้น
  • เล่นโยคะหรือฝึกสมาธิเพื่อผ่อนคลายร่างกาย
  • ใช้อุปกรณ์พันเท้า (Foot Wrap) ที่ออกแบบพิเศษสำหรับผู้ป่วย Restless Legs Syndrome ซึ่งจะเพิ่มแรงกดบริเวณใต้ฝ่าเท้า และช่วยบรรเทาอาการของโรค 

การใช้ยา

การรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการเลือกยาที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย และแพทย์อาจทดลองปรับยาโดยประเมินจากอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ตัวอย่างยาที่แพทย์อาจนำมาใช้รักษา Restless Legs Syndrome เช่น 

กลุ่มยาที่ช่วยเพิ่มระดับโดพามีนในสมอง 

เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระดับโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองและช่วยลดอาการสั่นบริเวณขา เช่น ยาโรพินิโรล (Ropinirole) ยาโรทีโกทีน (Rotigotine) และยาพรามิเพรกโซล (Pramipexole) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการในระดับปานกลางและรุนแรง

ยากันชัก (Anticonvulsant)

ยากันชักจะส่งผลต่อสารเคมีในสมองและช่วยให้อาการทุเลาลง เช่น ยากาบาเพนติน (Gabapentin) ยากาบาเพนติน อีนาคาร์บิล (Gabapentin Enacarbil) และยาพรีกาบาลิน (Pregabalin)

ยาโอปิออยด์ (Opioids)

ยาโอปิออยด์จะช่วยบรรเทาอาการปวดและความรู้สึกไม่สบายขา เช่น ยาโคเดอีน (Codeine) ยาทรามาดอล (Tramadol) ยาออกซิโคโดน (Oxycodone) และยาไฮโดรโคโดน (Hydrocodone) อย่างไรก็ตาม ยาโอปิออยด์เป็นยาที่ออกฤทธิ์รุนแรงและอาจทำให้ดื้อยา รวมทั้งไม่ควรใช้ยาเมื่อผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ยาคลายกล้ามเนื้อและยานอนหลับ

แม้ยาคลายกล้ามเนื้อและยานอนหลับจะไม่ช่วยรักษาอาการบริเวณขาได้โดยตรง แต่เป็นกลุ่มยาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดียิ่งขึ้นและจะใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) ยาเอสโซพิโคลน (Eszopiclone) และยาเทมาซิแพม (Temazipam) เป็นต้น นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้อาจทำให้รู้สึกง่วงนอนระหว่างวันได้ 

ภาวะแทรกซ้อนของ Restless Legs Syndrome

โดยทั่วไป Restless legs Syndrome มักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ส่วนใหญ่มักพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะการตื่นกลางดึก หรือมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดคืน ทำให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม และรู้สึกอ่อนเพลียในวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอดนอนเรื้อรังอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคซึมเศร้า และอาจเสียชีวิตได้

การป้องกัน Restless Legs Syndrome

เนื่องจาก Restless Legs Syndrome เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด จึงไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันโรคได้อย่างสิ้นเชิง หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน หรือกำลังตั้งครรภ์ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานยา และพบแพทย์ตามการนัดหมายเพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ หลังรับประทานยาที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรค ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม