Illness name: การรักษาธาลัสซีเมีย

Description:

ธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
  • ความหมาย
  • อาการของธาลัสซีเมีย
  • สาเหตุของธาลัสซีเมีย
  • ภาวะแทรกซ้อนของธาลัสซีเมีย
  • การวินิจฉัยธาลัสซีเมีย
  • การรักษาธาลัสซีเมีย
  • การป้องกันธาลัสซีเมีย

การรักษาธาลัสซีเมีย ธาลัสซีเมีย (Thalassemia)

Share:

การรักษาธาลัสซีเมียขึ้นอยู่กับประเภทและระดับความรุนแรงของโรค แพทย์จะเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมและสามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละกรณี โดยทั่วไปแล้ว วิธีรักษาธาลัสซีเมียประกอบด้วยการถ่ายเลือด การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์  การกำจัดธาตุเหล็กเกินขนาดและการรักษาอาการอื่น ๆ

  • การให้เลือด (Blood Transfusions) เป็นวิธีรักษาที่เหมาะกับผู้ที่ป่วยเป็นธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง การให้เลือดอย่างสม่ำเสมอจะช่วยรักษาภาวะโลหิตจาง โดยผู้ป่วยจะได้รับเลือดผ่านท่อสายยางที่เจาะเข้าไปในหลอดเลือดตรงแขนซึ่งจะใช้เวลาในการให้เลือดไม่กี่ชั่วโมง ความถี่ในการให้เลือดนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของประเภทธาลัสซีเมียที่เป็น สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นเบต้าธาลัสซีเมียเมเจอร์ซึ่งเป็นประเภทธาลัสซีเมียที่มีความรุนแรงมากที่สุด จำเป็นต้องได้รับการให้เลือดเดือนละครั้ง ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นธาลัสซีเมียประเภทที่รุนแรงน้อยกว่าอาจต้องได้รับการให้เลือดแค่บางครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ การให้เลือดอาจก่อให้เกิดภาวะธาตุเหล็กในเลือดมากเกินไป ซึ่งสามารถทำลายหัวใจ ตับ และอวัยวะส่วนอื่น ผู้ป่วยต้องรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยเพื่อกำจัดธาตุเหล็กในเลือดออกไป
  • การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem Cell Transparent) การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยจะได้รับสเต็มเซลล์จากผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและมีสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้อย่างพี่น้อง โดยผู้ป่วยจะได้รับสเต็มเซลล์ผ่านการหยดเซลล์ทีละเซลล์เข้าไปในหลอดเลือด เมื่อร่างกายได้รับเซลล์ใหม่ที่ปลูกถ่ายเข้าไปก็จะเริ่มผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงเข้าไปแทนที่ อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อาจก่อให้เกิดภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย (Graft Versus Host Disease) กล่าวคือ เซลล์ที่ปลูกถ่ายเข้าไปนั้นได้ทำลายเซลล์อื่น ๆ ภายในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งภาวะดังกล่าวถือว่าอันตรายต่อชีวิต แม้การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะช่วยรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ในการรักษาผู้ป่วยโลหิตธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น
  • การกำจัดธาตุเหล็กเกินขนาด (Removing Excess Iron) ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดอย่างสม่ำเสมอจะประสบภาวะธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไป ซึ่งส่งผลเสียต่อหัวใจ ตับ และอวัยวะส่วนอื่น ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการกำจัดธาตุเหล็กที่มากเกินไป โดยวิธีกำจัดธาตุเหล็กเกินขนาดมีชื่อว่าการทำคีเลชั่น (Chelation Therapy) การทำคีเลชั่นจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้ป่วยธาลัสซีเมียได้รับการให้เลือดไปประมาณ 10 ครั้ง ซึ่งการทำคีเลชั่นประกอบด้วยสาร 3 อย่างเรียกว่าสารคีเลชั่น (Chelating Agents) ได้แก่
    • ดีเฟอร์ร็อกซามีน (Desferrioxamine: DFO) แพทย์จะให้สารตัวนี้โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังช้า ๆ ผ่านเครื่องช่วยปั๊มยา ซึ่งต้องใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5-6 ครั้ง
    • ดีเฟอร์ริโปรน (Deferipron: DFP) แพทย์จะให้สารนี้โดยให้ผู้ป่วยรับประทานเหมือนยาเม็ดหรือยาน้ำวันละ 3 ครั้ง บางครั้งอาจใช้ร่วมกับดีเฟอร์ร็อกซามีนเพื่อลดจำนวนการฉีดสารดังกล่าว
    • ดีเฟอร์ราซีร็อก (Deferasirox: DFX) แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานเป็นยาเม็ดแบบละลายในน้ำดื่ม
  • การรักษาอาการอื่น ๆ ธาลัสซีเมียก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการรักษา นอกจากวิธีการรักษาโรคตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีรักษาอีกหลายวิธีที่ใช้เมื่อเกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นขึ้น ดังนี้
    • การรักษาด้วยฮอร์โมน แพทย์อาจให้ฮอร์โมนแก่ผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้ากว่าปกติ โดยการรักษาด้วยฮอร์โมนจะช่วยรักษาภาวะดังกล่าวและเพิ่มฮอร์โมนในร่างกาย นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือประสบภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) ก็ต้องรับฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อรักษาภาวะนี้ด้วย
    • การให้วัคซีนและยาปฏิชีวนะ แพทย์จะให้วัคซีนและยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันและรักษาการติดเชื้อ
    • การใช้ยาบิสฟอตโฟเนต (Bisphosphonates) แพทย์จะใช้ยาเพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกผู้ป่วยให้แข็งแรงหากพบว่ามีกระดูกเปราะง่าย หรือที่เรียกว่าภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)
    • การผ่าตัดอวัยวะ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัดนำม้ามหรือถุงน้ำดีออกจากร่างกาย
    • การรับประทานโฟลิค ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิคสูงเพื่อช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง โดยอาหารที่อุดมไปด้วยโฟลิคมีหลายอย่าง เช่น มะเขือเทศ ตำลึง กะหล่ำปลี ผักคะน้า ถั่วงอก เป็นต้น
การวินิจฉัยธาลัสซีเมีย ธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
การป้องกันธาลัสซีเมีย ธาลัสซีเมีย (Thalassemia)